กรุงเทพ--2 ธ.ค.--ปชส.สนช.
นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกเลิกจ้างงาน โดยเพาะผู้ใช้แรงงานในชุมชน กรุงเทพมหานคร โดยจัดสรรงบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพื่อให้โครงการสร้างงานในชุมชนในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงาน และผู้มีรายได้น้อยอย่างสูงสุด กรุงเทพมหานครได้ขยายโครงสร้างงานด้านการซ่อมแซมบาทวิถี บ่อพัก ฝ่าท่อระบายน้ำ ฯลฯ แก่ผู้ใช้แรงงานโดยตรงอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้มีรูปแบบการดำเนินงาน 4 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 ให้สำนักงานจัดหาวัสดุ-จ้างเหมางานชุมชน โดยมีเขตคลองเตย สาธร ดำเนินการจัดหาวัสดุเพื่อการจัดซ่อมเป็นส่วนหลาง มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานในพื้นที่เขตรวมกลุ่มอาชีพอย่างน้อย 10 คน รับเหมางาน ในการซ่อมแซมทางเท้าตามที่เขตกำหนดให้และให้กลุ่มอาชีพ ชุมชนรับงานเขตละไม่เกิน 50,000 บาท รูปแบบที่ 2 จ้างเหมาผ่านกลุ่มอาชีพชุมชน โดยเขตฝึกอบรมอาชีพให้กับกลุ่มอาชีพที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้รับงานที่เขต ซึ่งเป็นวิธีสร้างงานให้ชุมชนอย่างแท้จริง รูปแบบที่ 3 จ้างผู้รับเหมาโดยมีเงื่อนไขให้จ้างแรงงานชุมชน ร้อยละ 50 มีเขตจตุจักรและดุสิต ดำเนินการโดยจ้างผู้รับเหมาให้จ้างแรงงานชุมชนร้อยละ 50 เขตจะสะดวกในการจัดจ้างผู้รับเหมาเป็นผู้ฝึกสอนแรงงานในชุมชนเอง และรูปแบบที่ 4 ให้ผู้รับเหมาร่วมทุนกับกลุ่มอาชีพชุมชน โดยมีเขตพระโขนงและสวนหลวง ดำเนินการโดยให้ผู้รับเหมาร่วมทุนกับกลุ่มอาชีพชุมชนดำเนินการผสมผสาน โดยผู้รับเหมารับงานจากเขตให้กับกลุ่มอาชีพชุมชนโดยผู้รับเหมาเป็นผู้จัดการวัสดุ ฝึกอบรมช่างปูนให้กับกลุ่มอาชีพชุมชนเอง
รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานทุกขั้นตอนถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของกรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตนำไปปฏิบัติโดยเร่งสำรวจผู้ใช้แรงงานในชุมชนในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการทั้ง 4 รูปแบบข้างต้น จะสามารถช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่กำลังว่างให้มีงานทำทั้ง 8 เขต ได้เป็นจำนวนมาก หลังวันที่ 15 ธันวาคม 2540 และจะสามารถขยายการจ้างแรงงานไปยังเขตอื่นๆ อีกให้ครบทั้ง 50 เขตอีกด้วย--จบ--