กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
ผู้พิการทางสายตา ในสังคมไทยขาดการสื่อสาร ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมที่มีต่อผู้พิการทางสายตา รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศต่างๆ และในทุกวันนี้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยผู้พิการทางสายตาได้รับโอกาสทางการศึกษา และเป็นที่ยอมรับจากสังคมมากขึ้น “การอ่านและเขียนอักษรเบรลล์ได้” ทำให้สามารถประกอบอาชีพเพื่อการดำรงชีวิตเหมือนบุคคลทั่วไป ในการเรียนการสอน เด็กพิการทางสายตาระยะเริ่มเรียน หรือผู้พิการทางสายตาที่ไม่เคยเข้าเรียนมาก่อน ต้องการเรียนรู้อักษรเบรลล์ ได้ฝึกหัดและทบทวนสะกดคำ ในรูปแบบอักษรเบรลล์ รศ.ดร.สุวรินทร์ ปัทมวรคุณ และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ประกอบด้วย นายยศินทร์ อัญชลีพัชระ นายกิตติศักดิ์ มหามล , นายสุจินดา พวงย้อย และ นางสาวอารีย์รัตน์ ทองขาว วิจัยและคิดค้นโปรแกรมและกลไกยืดหดต้นแบบ สำหรับเบรลล์ภาษาไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น ขึ้นมา เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในภาษาได้หลากหลาย
นายยศินทร์ ตัวแทนกลุ่ม เล่าว่า โปรแกรมและกลไกยืดหด เป็นส่วนจัดทำเพิ่มเครื่องช่วยเรียนรู้อ่านและเขียนอักษรเบรลล์เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถทบทวนฝึกอ่านและเขียนอักษรเบรลล์ได้ด้วยตนเอง เครื่องประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนสะกดคำ โดยส่วนสะกดคำจะอ่านออกเสียงอักษรเบรลล์ ทั้งพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมาย สามารถประสมเป็นคำได้ทั้ง 4 ภาษา และแบบฝึกหัดให้ฝึกปฏิบัติ ในส่วนของโปรแกรมและกลไกยืดหด เป็นกลไกที่ซับซ้อนยากขึ้น เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถรู้ว่าตัวเบรลล์ที่กดลงไป แล้วทบทวนได้ว่ากดจุดเบรลล์อะไรลงไปบ้าง ซึ่งอุปกรณ์แบบนี้ในต่างประเทศนั้นมีราคาสูงมาก
โดยลักษณะเฉพาะของผลงาน ประกอบด้วย 1. รีเรย์ ( Reray ) ทำหน้าที่ปล่อยให้ปุ่ม (เข็ม) ดีดยืดหด 2. LN2003A (ทรานซีสเตอร์) ทำงานสอดคล้องกับบอร์ดควบคุม Arduino ที่ทำให้เกิดการยืดหดของตัวรีเรย์ 3. เข็มหมุด เป็นส่วนยืดหดให้ผู้ใช้สัมผัสได้ 4. บอร์ดไข่ปลา วางเป็นชั้นจำนวน 4 แผ่น 5. Adruino Board เป็นตัวควบคุมเมื่อต้องการให้เข็มยืดขึ้นมาเพื่อสัมผัสกับมือผู้ใช้ซึ่งต้องทำงานสอดคล้องกับโปรแกรมออกเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์และคำที่สามารถขึ้นจากปุ่มภาษาเบรลล์ ซึ่งโปรแกรมที่เขียนคำสั่ง คือ ภาษา C ใน Arduino Board เพื่อรับคำสั่งที่ต้องการให้เข็มปุ่มสัมผัสยืดหดและมีเสียงออกมาสอดคล้องกับภาษาเบรลล์
การทำงานของตัวควบคุม จะทำงานต่อเมื่อมีคำสั่งจากผู้ใช้งานที่ต้องการทบทวน เช่นเมื่อกดตัวอักษรเบรลล์ ก. ที่จุด 1,2,4และ5 ใน 6 เซลล์ และมีเสียง ก. ออกมาแล้ว ผู้ใช้งานก็จะไปสัมผัสที่เข็มทำให้รู้ว่าเป็นจุด 1,2,4และ5 ที่เด้งขึ้นมาสัมผัสมือ ผู้ใช้งานจึงสัมผัสได้ว่าปุ่มที่ตนเองกดนั้นคือหมายเลยอะไรและอยู่ในตำแหน่งอะไร โดยในส่วนของโปรแกรมที่บอกจุดอักษรเบรลล์ว่าเป็นเสียงอะไรจะส่งข้อมูลซึ่งเป็นค่าบิต 0และ1 ที่สอดคล้องกับจุดอักษรเบรลล์ผ่านบอร์ดควบคุม Arduino เพื่อสั่งให้ Relay ทำงานโดยการปล่อยเข็มที่ติดอยู่กับตัว Reray ออกมาให้สัมผัสนิ้วของผู้ใช้งานได้ ส่วนของโปรแกรมออกเสียงชื่อ SVOX ที่เป็น Text to Speech อยู่บนระบบปฏิบัติการ Android ระบบจะออกเสียงเป็นภาษาไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งภาษาจีนและญี่ปุ่นต้องใช้Java ในการเขียนโปรแกรมที่ออกเสียงโดยใช้ Google Translate ในการช่วยพิมพ์แปลอักษรไทยเป็นอักษรจีนและญี่ปุ่นจากนั้นจะได้เสียง Phonetic แล้วจึงนำเสียงมาใช้สร้างจุดเบรลล์ที่สอดคล้องกับอักษรจีนและญี่ปุ่นนั้น
จากการนำผลงานไปทดลองกับผู้พิการทางสายตา โรงเรียนธรรมิกวิทยา อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี พบว่า ผู้พิการทางสายตาระยะเริ่มเรียน หรือผู้ที่ไม่เคยเรียนรู้อักษรเบรลล์ภาษาไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่นมาก่อน ได้ฝึก ทบทวนและเรียนรู้อักษรได้ง่ายยิ่งขึ้น สะดวกในการเคลื่อนย้าย พกพา และสามารถนำอุปกรณ์ชนิดนี้ไปฝึกที่ใดก็ได้ และง่ายต่อการใช้งาน มีแบตเตอรี่สำรองไฟ ลำโพงและหูฟัง
โปรแกรมและกลไกยืดหด เป็นส่วนจัดทำเพิ่มเครื่องช่วยเรียนรู้อ่านและเขียนอักษรเบรลล์ภาษาไทย อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น ที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องสถานะจำกัด(Finite State Machine) มีโปรแกรมประยุกต์ 2 ส่วน คือ Text-to-Speech และการเขียนภาษา Java เหมาะกับเด็กพิการทางสายตาชั้นอนุบาลตามโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนผู้พิการทางสายตาต่อไป นายยศินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 02-549-4994