กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ตามที่ปรากฏข่าวทางหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และสื่อโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ถึงกรณีที่ประชาชน ชาวบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ถูกชายชุดดำเข้าปิดล้อม เพื่อนำรถบรรทุกเข้าไปขนแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเกิดการปะทะมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยชายชุดดำได้จับตัวแกนนำชาวบ้านไปและปล่อยตัวเมื่อมีการขนแร่เสร็จเรียบร้อยแล้ว นั้น
นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า การดำเนินการ ทำเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ ที่บ้านนาหนองบง ตำบล เขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จำนวนทั้งสิ้น 6 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,290 ไร่ โดยวิธีเหมืองเปิด และทำการสกัดแร่ทองคำด้วยสารไซยาไนด์ ใช้น้ำหมุนเวียน ไม่มีการปล่อยน้ำออกนอกพื้นที่ ต่อมาได้เพิ่มการผลิตแร่ชนิดแร่ทองแดงด้วย ซึ่งการอนุญาตประทานบัตรดังกล่าว ได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า EIA และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2541 และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัด กรมป่าไม้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร แล้ว และได้ขอเปิดการทำเหมืองตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้สั่งการให้หยุดการทำเหมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ด้านทิศเหนือทรุดตัว ประกอบกับใบอนุญาตใช้พื้นที่สิ้นอายุ อยู่ระหว่างการขอต่ออายุการใช้ประโยชน์พื้นที่
โดยการทำเหมืองแร่ดังกล่าวได้รับการร้องเรียน จากชาวบ้าน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ตั้งแต่ปี 2549 ว่าได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ชาวบ้านเป็นโรคผื่นคันตามตัว พืชผลการเกษตรตกต่ำ น้ำอุปโภคบริโภคขาดแคลน เนื่องจากชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำจากห้วยน้ำฮวย ด้วยเกรงจะได้รับอันตรายจากสารพิษซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีการปล่อยมาจากเหมืองดังกล่าว จังหวัดเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนของกลุ่มผู้ร้องเรียน ทำการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ บริเวณเหมืองและพื้นที่โดยรอบ ปีละ 3-4 ครั้ง ทำการวิเคราะห์โดย 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมน้ำบาดาล และ กพร. จากผลการตรวจสอบที่ผ่านมาไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารพิษออกสู่ภายนอกพื้นที่ประกอบการเหมืองแร่ ซึ่งผลของการเฝ้าระวังดังกล่าวได้แจ้งให้ผู้แทนของกลุ่มผู้ร้องเรียนได้รับทราบทุกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ร้องเรียนยังคงร้องเรียนและร้องคัดค้านการทำเหมืองทองคำดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าเหมืองเป็นผู้ปล่อยมลพิษออกมา เพราะว่าประชาชนยังคงมีสุขภาพไม่ดี และมีการตรวจพบสารหนูในเลือดในปริมาณที่สูงอีกด้วย
ในปี 2554-2556 กพร. จึงได้ประสานงานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม มาทำการศึกษาหาสาเหตุของการแพร่กระจายโลหะหนัก และสารพิษต่าง ๆ ในบริเวณเหมืองแร่ทองคำ และพื้นที่ใกล้เคียง ผลปรากฏว่า พื้นที่เหมืองแร่ทองคำ และพื้นที่โดยรอบมีโลหะหนัก เช่น สารหนู และแมงกานีส ในปริมาณที่สูง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพของแร่โลหะ ปัจจุบันไม่พบว่ามีการแพร่กระจายของไซยาไนด์ หรือโลหะหนักออกนอกพื้นที่ทำเหมือง ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวได้นำเสนอให้จังหวัดเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้รับทราบแล้ว
การดำเนินการที่ผ่านมา กพร. ได้กำกับดูแลเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด โดยได้สั่งการให้เหมืองแร่ดังกล่าวเสริมความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนบ่อเก็บกากแร่ และให้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชนโดยรอบ กพร. เห็นว่าความขัดแย้งดังกล่าวเป็นความขัดแย้ง ที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจของประชาชน แต่เนื่องจากบริษัทฯ เองก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารค่อนข้างบ่อย ทำให้การสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนไม่ต่อเนื่องและไม่ได้ผล มีการฟ้องร้อง และ อ้างสิทธิ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาแทนที่จะลดลงกลับทวีความรุนแรงขึ้น กลุ่มชาวบ้านจึงสร้างสิ่งกีดขวางไม่ให้รถขนแร่ของบริษัทฯ ผ่านตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
ส่วนแร่ที่มีการขนออกไปจากเหมืองนั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นแร่ที่บริษัทฯ ผลิตได้ก่อนหยุดการทำเหมือง บริษัทฯ ได้รายงานผลการผลิตไว้กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย และการขนแร่ดังกล่าวก็ได้มีการขออนุญาตขนแร่จากอุตสาหกรรมจังหวัดเลย อย่างถูกต้อง
ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการเหมืองแร่กับประชาชนดังกล่าว กพร. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการประสานความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย อีกทั้งจะประสานให้กลุ่มผู้ร้องคัดค้านเสนอนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเข้ามาร่วมศึกษาและติดตามตรวจสอบการแพร่กระจายของโลหะหนัก และสารไซยาไนด์ ตลอดจนผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองดังกล่าว