ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

ข่าวทั่วไป Thursday May 29, 1997 07:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพ-29 พค.--ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวานนี้ เวลา 14.00 น. ณ ที่ห้องสีเขียวตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ครั้งที่ 2/2540 ภายหลังการประชุม นายวราเทพ รัตนากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุม สรุปได้ดังนี้
1.การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาท่าเรือตามแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาท่าเรือตามแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งคณะอนุกรรมการจัดการที่ดินและคณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมได้เดินทางไปศึกษาสภาพพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกบริเวณแหลมอ่าวขาม บ้านทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พบว่าสภาพทางกายภาพเหมาะสมจะพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากร่องน้ำลึก 9 เมตรใกล้ชายฝั่งช่องทางเข้าออกของเรือกว้างพอมีที่ดินหลังท่าเพียงพอเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมได้ และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งสามารถพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในแผนงานที่จะเชื่อมโยงบ้านทับละมุกับฝั่งอ่าวไทยบริเวณขนอม-สิชล ที่จะทำการก่อสร้างถนนกระบี่-ขนอม ทางรถไฟสายคีรีรัฐนิคมสุราษฎร์ธานี-ท่านุ่น-ภูเก็ต และถนนมอเตอร์เวย์ สายปลายพระยา-อ่าวลึก-พังงา-ตะกั่วทุ่ง-ภูเก็ต ทั้งนี้จะมีการประสานการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ทั้งท่าเรือสินค้า คอนเทนเนอร์ และทุ่นขนถ่ายน้ำมัน กับบริษัทที่ปรึกษาภายใต้ "โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก" ตามแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อดำเนินการศึกษาให้สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน
2.การศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมที่พังงาและขนอม
ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการศึกษาความเหมาะสมในการะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมที่พังงาและขนอม ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน และวันที่ 1 เมษายน 2540 ให้กำหนดที่ตั้งเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกตามแผนงานพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ 2 จุด คือ ฝั่งอ่าวไทย บริเวณฝั่งทะเล อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณฝั่งทะเล อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (สตพ.) ได้คัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาเรียบร้อยแล้ว และจะลงนามสัญญาว่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2540 ระยะเวลาศึกษา 9 เดือน และการศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม 2541 อีกทั้ง สพต.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแปรผลการศึกษาสู่ปฏิบัติเจรจาแหล่งเงินกู้ทั้งในส่วนของเงินงบประมาณ เงินกู้ และเงินลงทุนของภาคเอกชน สำหรับโครงการที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ และได้ขอความร่วมมือจากทางวิชาการจาก JIDA ในการศึกษาความเหมาะสมและแนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่ภูเก็ต-พังงา-กระบี่ และพื้นที่ขนอม-สิชลให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและศูนย์กลางทางการค้าและธุรกิจระดับนานาชาติ
3.การจัดหาแหล่งน้ำดิบสำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการจัดหาแหล่งน้ำดิบสำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยกรมชลประทานได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัท ให้ดำเนินการศึกษาโครงการจัดหาแหล่งน้ำดิบ ระยะเวลาการศึกษา 15 เดือน แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะแรก ศึกษาศักยภาพการพัฒนาแหล่งน้ำใช้เวลา 6 เดือน ระยะที่สอง ศึกษาความเหมาะสมของโครงการเร่งด่วนใช้เวลา 9 เดือน ซึ่งขณะนี้การศึกษาในระยะแรกเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการศึกษาในส่วนของระยะที่สอง
4.การกำหนดมาตรการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้
ที่ประชุมการพิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดมาตรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ดังนี้
4.1 การกำหนดผังการใช้ที่ดินระดับอนุภาค ที่ประชุมมอบหมายให้กรมผังเมืองได้จัดวางผังแม่บทการใช้ที่ดินเขตในเมืองเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณชุมชนอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน และบริเวณชุมชนอุตสาหกรรมสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นการจัดเตรียมการใช้ที่ดินในอนาคตในบริเวณดังกล่าว โดยการพัฒนาจะส่งผลกระทบทำให้เกิดการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรมชุมชนและท่าเรือรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำดิบ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการกำกับดูแลการใช้ที่ดินอย่างรอบคอบ จึงเห็นสมควรให้จัดการที่ดินภายในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ไม่รวมถึงพื้นที่ป่าชายเลน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรมอบหมายให้กรมผังเมืองร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาและประสานงานในเรื่องดังกล่าวต่อไป
4.2 การกำหนดมาตรการการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมได้มีการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนดังนี้
4.2.1 การศึกษารายละเอียดโครงการ
4.2.2 สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
4.2.3 การประเมินผกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการและการเปรียบเทียบทางเลือกการพัฒนา
4.2.4 ข้อเสนอแนะแผนการจัดการสิ่งแวดล้อม
ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแปรแผนสู่ปฏิบัติ และนำเสนอคณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการตามแผนฯ พิจารณาและกลั่นกรองก่อนนำเสนอ สพต.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
4.3 การฟื้นฟูบูรณะแหล่งท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นควรให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำแผนการปฏิบัติฟื้นฟูบูรณะแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่อ่าวพังงา กระบี่ ภูเก็ต และทะเลรอบเกาะสมุย และมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมป่าไม้จัดทำแผการพัฒนาอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นดครงการตัวอย่างการท่องเที่ยวในการจัดการด้านการท่องเที่ยวเพื่อรักษาระบบนิเวศน์วิทยา รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมประสานกับสตพ.ในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา เป็นแหล่งมรดกโลก เพื่อเป็นการส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์
5. การจัดทำแผนปฏิติโครงการพัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยม บางสะพาน-ชุมพร-ระนอง สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเหล็ก อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และแหล่งท่องเที่ยว
ที่ประชุมเห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงาน โดยประสานกับ สพต.เพื่อจัดทำสรุปนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้พิจารณาต่อไป นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้รับทราบ การเตรียมการจัดตั้งธนาคารอิสลามในการพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังดำเนินการอยู่--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ