กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
“โรสออฟสุโขทัย” (Rose of Sukhothai) ลวดลายผ้าทอฝีมือชาวบ้านที่โลดแล่น โดดเด่นบนแคทวอล์ก คือก้าวสำคัญของภูมิปัญญาผ้าทอ ที่ฉายความเป็นไทยได้อย่างสง่างาม
โรสออฟสุโขทัยเป็น ๑ ใน ๕ ของผ้าทอที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของกลุ่มทอผ้าในโครงการพัฒนาผ้าทอร่วมสมัย ซึ่งสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
“เลือกทอลายนี้เพราะมีลักษณะกลม มน คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกับผ้าทอของสุโขทัยที่จะทำให้มองดูว่าเปลี่ยนไปจากเดิมจริง ๆ ไม่ได้ยึดติดกับลายที่เคยทอ แต่ยังคงพื้นฐานเดิม นับเป็นงานผ้าชิ้นใหม่ของกลุ่ม ทุกคนตื่นเต้นกับลายนี้ เวลามีคนมาดูงานเราก็จะบอกว่า นี่คือการพัฒนารูปแบบลวดลาย ลูกค้าก็ชอบ เพราะดูอ่อนหวาน” นางสาวรวีวรรณ ขนาดนิด กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
โรสออฟสุโขทัยเป็นผ้าฝ้ายธรรมชาติย้อมคราม ลวดลายดอกกุหลาบ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของความรัก ตั้งใจสื่อถึงความรักที่ส่งผ่านความงามแห่งรักจากผู้ให้ไปยังผู้รับ เพื่อที่การสวมใส่โรสออฟสุโขทัยจะมิใช่เพียงแค่การสวมใส่ผ้าทอ แต่เป็นการสวมใส่ความรักจากผู้ให้ ด้วยเหตุนี้เองโรสออฟสุโขทัยจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๑๐ ของการแสดงแบบชุดแต่งงานผ้าไทยในงานอาภรณ์ ๒ นิทรรศการชุดไทยแห่งรัก
“ลวดลายโรสออฟสุโขทัยสื่อความหมายของความรัก มีความเชื่อมโยงกับนิทรรศการและชุดที่ตัวเองออกแบบ เป็นชุดของสตรีสมัยรัชกาลที่ ๕ ตัวเสื้อตัดเย็บด้วยผ้าลูกไม้และนุ่งโจงกระเบน จึงได้นำผ้าทอโรสออฟสุโขทัยมาตกแต่งโจงกระเบน เป็นการนำเสนอชุดแต่งงานไทยในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยประยุกต์ให้ทันสมัยและดูพิเศษขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับวันแต่งงาน” ดร.ดนัย เรียบสกุล รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของงานอาภรณ์ ๒
โรสออฟสุโขทัยจึงตราตรึงสายตาในชุดฟินาเล่บนเวทีการแสดงแบบชุดแต่งงานไทย เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ด้วยรูปแบบชุดแต่งงานไทยประยุกต์ ที่นำความงามของงานศิลปหัตถกรรมในอดีตมาปรับใช้ให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้เป็นรูปแบบร่วมสมัย ถือเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของความรักและนี่คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สร้างสรรค์ถักทอ
“ตอนนี้ทางกลุ่มทอผ้าลวดลายโรสออฟสุโขทัยเป็นผ้าผืน ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ อีกไม่นานจะแปรรูปเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ในแบบเป็นเซ็ต และจะใช้เส้นไหมทอด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่า”
เป้าหมายสำคัญของกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว คือ การพัฒนารูปแบบ คุณภาพของผ้าทอให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ด้วยมุ่งขยายตลาด หวังบุกตลาดระดับกลางและระดับบน ซึ่งเป็นการฉีกวิธีคิดแบบเดิม นับเป็นงานหนักอันท้าทายยิ่ง