อัตราการผิดนัดชำระหนี้และอัตราการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตในประเทศไทย ประจำปี 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 23, 2014 12:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง เศรษฐกิจของไทยในปี 2556 ขยายตัวเพียง 2.87% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่มีการประมาณการไว้ที่ 4.5%-5% สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่าสาเหตุหลัก 2 ประการที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยโตต่ำกว่าประมาณการคือ ประการแรก ฐานที่สูงผิดปกติของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในปี 2555 ซึ่งมีสาเหตุมาจากโครงการรถคันแรกของรัฐบาลซึ่งทำให้ยอดขายรถในปี 2555 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก สาเหตุประการที่ 2 คือ การชะลอตัวของการส่งออกแม้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเติบโตอย่างมากในปี 2556 ก็ตาม นอกจากนี้ ผลกระทบเชิงลบจากโครงการรถคันแรกก็เริ่มเห็นชัดเจนในปี 2556 โดยจะเห็นได้จากภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงถึงกว่า 80% ของ GDP ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความกังวลต่อระดับหนี้ที่สูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2556 และสถานการณ์ก็เลวร้ายลงจากความวุ่นวายทางการเมืองที่เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2556 ระดับหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับความยืดเยื้อของปัญหาการเมืองคาดว่าจะเป็นอุปสรรคต่ออัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2557 โดยสศช. คาดว่า GDP จะโต 1.5%-2.5% โดยประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP ที่ค่อนข้างต่ำมีสาเหตุหลักมาจากความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานซึ่งส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนลดต่ำลง ดังนั้น จึงมีเพียงการส่งออกและการท่องเที่ยวเท่านั้นซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ GDP ขยายตัวได้ในปีนี้ ในปี 2556 มีบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตและประกาศโดยทริสเรทติ้งทั้งหมด 108 ราย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 101 รายในปี 2555 โดยหลายบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิต ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มอันดับเครดิต 11 รายและปรับลดอันดับเครดิต 8 ราย นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิต 9 ราย และได้รับการประกาศเครดิตพินิจ 1 ราย โดยบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตจำนวน 3 รายจากบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตทั้งหมดนั้นได้ถูกปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” ในปีก่อนหน้า ในขณะที่มีเพียง 1 บริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตที่ได้รับการเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive” หรือ “บวก” ในปีก่อนหน้า ในปี 2556 ไม่มีบริษัทใดผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น จำนวนบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้สะสมตั้งแต่ปี 2537 ยังคงอยู่ที่ 18 ราย ทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในปี 2556 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.6% 3.5% และ 5.3% จาก 1.8% 3.9% และ 6% ในปี 2555 ตามลำดับ มูลค่าหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ออกและจดทะเบียนในสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2556 อยู่ที่ 444,308 ล้านบาท ลดลง 18% จากปี 2555 โดยหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์คิดเป็น 8.28% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกในปี 2556 ซึ่งลดลงอย่างมากจากปีก่อนหน้าที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิเพื่อเป็นการระดมเงินทุนสำหรับกิจการและเป็นการเพิ่มฐานทุนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นก่อนที่จะมีการบังคับใช้เกณฑ์ BASELIII ในปี 2556 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลง ธปท. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 อัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันอยู่ที่ 2% ต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ในปีนี้น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทเอกชนที่ต้องการเงินทุนน่าจะมีการออกหุ้นกู้มากขึ้นเพื่อคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไว้ในระดับต่ำ การจัดอันดับเครดิตในปี 2556 เศรษฐกิจของไทยเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองอีกครั้งในปลายปี 2556 ส่งผลให้อัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาสสุดท้ายลดลงเหลือเพียง 0.56% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อัตราการเติบโตของ GDP โดยรวมในปี 2556 อยู่ที่ 2.87% เทียบกับที่เคยมีการประมาณการไว้ที่ 4.5%-5% เมื่อต้นปี 2556 ความวุ่นวายทางการเมืองประกอบกับการขาดแคลนงบประมาณสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2557 โดยแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในปี 2557 น่าจะมีการเลื่อนออกไป ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ภาคธุรกิจที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศซึ่งได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจอื่นๆ - อันดับเครดิตมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น ในปี 2556 ทริสเรทติ้งประกาศอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้ารวมทั้งสิ้น 108 ราย โดยเป็นการให้อันดับเครดิตแก่ลูกค้าใหม่จำนวน 8 ราย ในจำนวนลูกค้าทั้งหมดประกอบด้วยบริษัททั่วไป 73 ราย และสถาบันการเงิน 35 ราย มีลูกค้าที่ขอยกเลิกอันดับเครดิตในระหว่างปีจำนวน 4 ราย โดยเป็นบริษัททั่วไปจำนวน 1 ราย และสถาบันการเงินจำนวน 3 ราย ทริสเรทติ้งได้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตลูกค้าทั้งสิ้น 11 ราย ปรับลดอันดับเครดิต 8 ราย (โดยมี 2 บริษัทยกเลิกอันดับเครดิตหลังจากถูกปรับลดอันดับเครดิต) เปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิต 9 ราย และประกาศเครดิตพินิจให้แก่ลูกค้า 1 ราย โดยเป็นการปรับเพิ่มอันดับเครดิตให้แก่กลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัททั่วไปจำนวน 9 รายซึ่งอยู่ในภาคธุรกิจที่หลากหลาย อย่างไรก็ดี 3 บริษัทที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตเป็นบริษัทที่อยู่ในภาคธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยสาเหตุหลักของการปรับลดอันดับเครดิตมาจากผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าประมาณการ และ/หรือภาระหนี้สินที่สูงกว่าคาด ลูกค้าที่ได้รับการปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตมี 4 ราย และถูกปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิต 5 ราย สัดส่วนของบริษัทที่มีการประกาศอันดับเครดิตต่อสาธารณะ (ไม่นับรวมลูกค้าใหม่และลูกค้าที่ยกเลิกอันดับเครดิต) ที่ได้รับอันดับเครดิตคงเดิมมี 82.3% ลดลงค่อนข้างมากจากปี 2555 ที่อยู่ที่ระดับ 92.3% ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต 11.5% และปรับลดอันดับเครดิต 6.2% - อันดับเครดิต[1]ของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ “A” ณ สิ้นปี 2556 บริษัทที่จัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งส่วนใหญ่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับ “A” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 46.2% ของอันดับเครดิตทั้งหมดที่มีการประกาศผลต่อสาธารณะ (ไม่นับรวมบริษัทที่ยกเลิกอันดับเครดิตและบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้) ลดลงเล็กน้อยจากปี 2555 ที่ 50% รองลงมาคือบริษัทที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับ “BBB” ซึ่งมีสัดส่วนรวม 35.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่ 34% บริษัทที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับที่ต่ำลงมา (“BB” “B” และ “C”) เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดมาโดยตลอด ในปี 2556 มีบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับต่ำกว่า “BBB” 3 ราย คิดเป็นเพียง 2.9% ของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 2555 โดยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นเนื่องมาจากมีการปรับลดอันดับเครดิตของลูกค้า 1 รายจาก “BBB-” เป็น “BB+” สัดส่วนของบริษัทที่มีอันดับเครดิตในระดับต่ำมีค่อนข้างน้อยเนื่องจากความต้องการของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยในตราสารของบริษัทกลุ่มนี้ยังมีน้อยอยู่ ประกอบกับกองทุนรวมต่าง ๆ ยังมีข้อจำกัดในการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ ดังนั้น บริษัทที่ได้รับอันดับเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ที่ลงทุนได้จึงมักจะไม่ประกาศผลอันดับเครดิตของตนต่อสาธารณะหรือมักยกเลิกอันดับเครดิตไป แผนการส่งเสริมให้มีการจัดอันดับเครดิตสำหรับหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงของทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังไม่คืบหน้ามากนัก เนื่องจากบางบริษัทที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ยังคงสามารถกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการออกตราสารหนี้ - การผิดนัดชำระหนี้สะสมลดลง อัตราการผิดนัดชำระหนี้เฉลี่ยสะสม[1] 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีของแต่ละอันดับเครดิตใช้ในการประเมินโอกาสของการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นภายในช่วง 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีแรกนับตั้งแต่บริษัทได้รับอันดับเครดิตนั้น ๆ โดยอันดับเครดิตควรสะท้อนถึงโอกาสที่บริษัทจะมีการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ บริษัทที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับสูงควรมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำกว่าบริษัทที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม จากจำนวนตัวอย่างที่มีค่อนข้างน้อยและภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ส่งผลให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในปี 2540 ของอันดับเครดิตที่ระดับ “AA” สูงกว่าอันดับเครดิตที่ระดับ “A” อย่างผิดปกติ แต่การเพิ่มจำนวนตัวอย่างอันดับเครดิตทุกปีก็จะช่วยให้การคำนวณอัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เนื่องจากในปี 2556 ไม่มีบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น อัตราการผิดนัดชำระหนี้เฉลี่ยสะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีจึงปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการผิดนัดชำระหนี้เฉลี่ยสะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในปี 2556 ลดลงเป็น 1.6% 3.5% และ 5.3% ตามลำดับ จาก 1.8% 3.9% และ 6% ในปี 2555 [1] รายละเอียดการคำนวณอัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมแสดงอยู่ในภาคผนวก 1 ท้ายรายงาน อัตราการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิต (Rating Transition Rate) ระหว่างปี 2537-2556 อัตราการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตหมายถึงโอกาสที่อันดับเครดิตของบริษัทหนึ่ง ๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อเวลาผ่านไป ดังตัวอย่างในตารางที่ 4 พบว่าประมาณ 94.06% ของจำนวนบริษัทที่ได้รับอันดับเครดิตระดับ “A” ยังคงได้รับอันดับเครดิตคงเดิมที่ “A” ในปีถัดไป ในขณะที่อีกประมาณ 3.47% ของจำนวนบริษัทที่ได้รับอันดับเครดิตระดับ “A” จะได้รับการปรับอันดับเครดิตขึ้นไปเป็นระดับ “AA” และ 2.23% ได้รับการลดอันดับเครดิตลงมาอยู่ที่ระดับ “BBB” เป็นต้น โดยส่วนใหญ่บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับต่าง ๆ เกินกว่าครึ่งมีอันดับเครดิตในระดับที่คงเดิมภายในเวลา 1 ปี โดยอันดับเครดิตของบริษัทที่อยู่ในระดับที่ลงทุนได้ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายใน 1 ปีน้อยกว่าบริษัทที่มีอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่ลงทุนได้ โดยตัวเลขในช่องทึบสีฟ้าตามแนวขวางของตารางที่ 4 แสดงสัดส่วนของบริษัทในแต่ละอันดับเครดิตที่ยังคงมีอันดับเครดิตคงอยู่ในระดับเดิมเมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 ปี ตัวอย่างเช่น 81.25% ของบริษัทที่ได้รับอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA” จะสามารถคงอันดับเครดิตที่ระดับเดิมเมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 ปี อัตราการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อนระหว่างปี 2542-2556 เนื่องจากตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อนมีจำนวนค่อนข้างน้อยในประเทศไทย ทริสเรทติ้งจึงมีการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าวเพียง 2 โครงการ โครงการแรกเป็นตราสารของ บริษัท แอลเอสพีวี จำกัด (LSPV) ซึ่งออกตราสารที่มีสินค้าคงคลังเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง โดยได้รับอันดับเครดิตที่ระดับ “A-” ในปี 2542 และต่อมาได้ไถ่ถอนออกไปในปี 2545 สำหรับโครงการที่ 2 เป็นตราสารของ บริษัท ดีเอดี เอสพีวี จำกัด (DAD SPV) ซึ่งเป็นโครงการที่มีการออกตราสารโดยมีสินทรัพย์หนุนหลังเป็นรายได้จากค่าเช่าพื้นที่และค่าบริการของศูนย์ราชการที่ถนนแจ้งวัฒนะจากกรมธนารักษ์ระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ โครงการที่ 2 ได้รับอันดับเครดิตในระดับ “AAA” จนถึงปัจจุบัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ