กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี หน่วยงานต่างๆ ได้มีการรณรงค์ให้ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการสูบบุหรี่ไม่ใช่เพียงแค่ก่อโรคร้ายให้ตัวเองเพียงคนเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้างและคนที่เรารักด้วย และเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งปอด
รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ หน่วยมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ผู้ป่วยเพศหญิงก็พบสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ตรวจพบในระยะเริ่มแรกได้ยากเพราะอาการจะไม่ปรากฏ ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการที่โรคลุกลามแล้ว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งปอดมีหนทางในการดูแลรักษา และส่งผลให้มีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยระยะและมีการรักษาที่ถูกต้อง
ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักจะมีประวัติการสูบบุหรี่ โดยทั่วไปพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จัด 1 ซองขึ้นไปต่อวัน หรือผู้ที่สูดเอาควันบุหรี่เข้าไปจะมีอายุสั้นกว่าคนปกติทั่วไป 7-10 ปี และผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันยาวนานตั้งแต่ 10-20 ปี มีความเสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็งปอด รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายต่อสุขภาพและก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทราบว่าในบุหรี่ไฟฟ้า มีปริมาณนิโคตินน้อยกว่าบุหรี่จริง ทำให้ความถี่ในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้น จึงไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่จริง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น บุหรี่มือสอง (ได้รับควันบุหรี่จากคนรอบตัว) มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ผู้คนหนาแน่น หรือเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งสารบางชนิด เช่น แร่ใยหิน สารหนู โครเมียม นิกเกิ้ล น้ำมันดิน สารไฮโดรคาร์บอน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี ควันไฟจากการเผาขยะการเผาป่าหรือกิจการทางการเกษตร ควันจากธูป ควันที่เกิดจาการประกอบอาหาร และยาลูกกลอน หรือในสมุนไพรจีนบางชนิดที่มีสารหนูปนเปื้อนควรหลีกเลี่ยง ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่สูดควันบุหรี่เป็นประจำ และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดสม่ำเสมอ
“อันตรายของมะเร็งปอด ก็เหมือนมะเร็งชนิดอื่น คือระยะแรกๆ มักจะไม่มีอาการ จนกว่าโรคจะลุกลามไปมากแล้ว การตรวจเอ็กซ์เรย์ปอด และการตรวจร่างกายประจำปีก็ไม่อาจตรวจพบมะเร็งปอด จะสามารถตรวจพบด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ สำหรับสัญญาณอันตรายของโรคมะเร็งปอดคือ ไอเป็นเวลานาน อาการไม่ทุเลาเหมือนการไอปกติ แต่กลับเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หายใจเหนื่อยหอบ หายใจสั้น เสียงแหบ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไอ หรือมีเสมหะ ปนเลือด เจ็บหน้าอก หัวไหล่ หลัง และแขนเป็นประจำ (อาจเป็นเพราะก้อนเนื้อเบียดกดอยู่) เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือแขน รวมถึงเป็นโรคปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบบ่อย” รศ.นพ.นรินทร์ กล่าว
สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด รศ.นพ.นรินทร์ บอกว่า โดยมากผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะที่ 2 และ 3 เมื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถหายเป็นปกติได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลา 3-6 เดือนผู้ป่วยจะเสียชีวิต ซึ่งความก้าวหน้าในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดสามารถทำได้โดย การเอ็กซ์เรย์ การเจาะเลือดตรวจหามะเร็งในเลือด ตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารบ่งชี้ อุลตร้าซาวนด์ ถอดรหัสดีเอ็นเอ เพื่อแยกสายพันธุ์มะเร็งปอดในระดับโมเลกุล ส่วนการรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัด การฉายแสง การใช้เคมีบำบัด และการใช้ยายับยั้งยีนส์เพื่อการรักษาตามเป้าหมาย
วิธีการป้องกัน...ให้ลมหายใจ ไร้มะเร็งปอด สามารถทำได้ดังนี้
1. การป้องกันขั้นปฐมภูมิ เป็นการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม เป็นวิธีที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะแค่ก้าวออกจากบ้านเราก็ได้รับสารก่อมะเร็งจาก ฝุ่นควัน และมลพิษต่างๆ แล้ว
2. การป้องกันขั้นทุติยภูมิ หรือเมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งแล้ว ควรออกกำลังกายเพิ่มภูมิคุ้มกัน เมื่อเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งต่างๆ ได้ ก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระ เน้นผักและผลไม้ปลอดสารพิษ รวมไปถึงปลาทะเลต่างๆ
3. การป้องกันขั้นตติยภูมิ ด้วยการตรวจสุขภาพอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรอง
ฉะนั้น มะเร็งปอดจะลดลงได้เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลดลง แต่ด้วยเทคโนโลยี และมลภาวะที่สูงขึ้น บวกกับภาวะโลกร้อน ทำให้การกระจายตัวของมลภาวะมีมากขึ้นด้วย ฉะนั้นการป้องกันโรคมะเร็งปอดสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งต่างๆ และตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี และการรักษาจะช่วยลดความทรมานของผู้ป่วย ให้มีชีวิตอยู่ได้นาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น