กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
กฎอัยการศึกจะมีผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างไรบ้าง ประเด็นสำคัญคือไม่พึงตกใจ คงไม่เกิดภาวะที่เลวร้ายไปกว่านี้ และคาดว่าในไตรมาสที่ 3-4 อุปสงค์และอุปทานจะดีดกลับหลังจากอั้นมานาน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้สรุปเกี่ยวกับกฎอัยการศึก ว่าการประกาศใช้จะมีได้ก็ต่อเมื่อมีสงครามเกิดขึ้นแล้ว มีการจลาจลเกิดขึ้นแล้ว และมีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยอันเกิดจากภัยที่อาจจะมีมาจากภายนอกหรืออาจจะเกิดภายในราชอาณาจักรการพลิกโฉมการเมืองไทยโดยไม่ได้ประกาศทำรัฐประหารแต่ประกาศกฎอัยการศึกนั้น หลายท่านอาจสงสัยว่า ผู้ใดมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามกฎหมายได้แก่บุคคลต่อไปนี้:
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุดของทหารมีกำลังทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อยู่ในบังคับบัญชา
2. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีกำลังทหารทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ อยู่ในบังคับบัญชา
3. ผู้บัญชาการทหารบก มีกำลังทหารในกองทัพบก
4. แม่ทัพภาค มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทัพภาคนั้น ๆ
5. ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตท้องที่ของกองเรือยุทธการ
6. ผู้บังคับการกองบินยุทธการ มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตหน้าที่ของกองบินยุทธการ
7. ผู้บังคับการกรมอากาศโยธิน มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตอำนาจหน้าที่ของกรมอากาศโยธิน
8. แม่ทัพซึ่งได้รับแต่งตั้งขึ้นในเวลาสงคราม ย่อมมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตอำนาจหน้าที่กองทัพของตน
9. ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกองบินใหญ่ ผู้บังคับการกองบินภาค และผู้บังคับการกองบินน้อย มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตอำนาจหน้าที่ของกองพล กองบินใหญ่ กองบินภาค และกองบินน้อยนั้นๆ
10. ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๕ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกำลังทหารอยู่ในบังคับบัญชาไม่น้อยกว่า ๑ กองพัน จึงมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตอำนาจหน้าที่ของมณฑลทหารบกที่ ๕ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช
11. ผู้บังคับการกรม มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตอำนาจหน้าที่ของกรมนั้น ๆ
12. ผู้บังคับกองพัน มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตอำนาจหน้าที่ของกองพันนั้น ๆ
ตามเอกสารอ้างอิงกล่าวว่า ส่วนผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ นั้น แต่เดิมมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้เฉพาะภายในเขตอำนาจหน้าที่กองทัพของตน นับแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพบก กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2550 ใช้บังคับกำหนดเขตพื้นที่ของทหารบกคลุมทั้งหมดอยู่แล้ว เขตพื้นที่ของกองทัพเรือและกองทัพอากาศจึงไม่มีเหลืออยู่
ในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก ทหารสามารถทำการตรวจค้น การเกณฑ์ การห้าม การยึด การเข้าพักอาศัย การทำลาย การเปลี่ยนแปลงสถานที่ การขับไล่ และการขับไล่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลบางประการโดยเฉพาะต่ออาการตกใจของประชาชนและนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์บ้าง แต่ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นชั่วคราว ในช่วงเวลานี้ กิจกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ย่อมจะเบาบางลง โดยเฉพาะเมื่อมีการกำหนดห้วงเวลาการห้ามออกจากบ้านหรือการเดินทางต่าง ๆ เป็นต้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องชั่วคราว
หลายท่านอาจกังวลว่าการประกาศกฎอัยการศึกเป็นรัฐประหารหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประกาศว่าไม่ใช่ เป็นเพียงการทำให้บ้านเมืองสงบเท่านั้น สำหรับการเลิกใช้กฎอัยการศึก "จะกระทำได้ก็แต่โดยมีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเพียงวิธีเดียวเท่านั้น . . . ฉะนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึกเห็นว่า สมควรจะได้ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในท้องถิ่นที่ตนได้ประกาศใช้ไว้ ก็ให้รายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงรัฐบาลเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับประกาศกระแสพระบรมราชโองการเสมอไป" ผลที่เกิดขึ้นในระยะสั้นอาจเป็นเรื่องของความตกใจหรือความวิตกกังวล แต่ไม่มีผลในระยะยาว เช่น ในกรณีนี้รัฐบาลสหรัฐอเมริการีบออกมาประกาศท่าทีว่าให้ประเทศไทยรักษาหลักการประชาธิปไตยรวมทั้งเสรีภาพของสื่อมวลชน และไม่เอารัฐประหาร {4} หรือญี่ปุ่นออกมาแถลงว่า "ญี่ปุ่นกังวลสถานการณ์ในไทยหลังกองทัพประกาศกฎอัยการศึก . . โดยขอให้ทุกฝ่ายเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อกัน" อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายก็เชื่อว่าสถานการณ์คงจะคลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว และนำพาประเทศไปตามครรลองของกฎหมาย ได้แก่ การจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วตามประเพณีประชาธิปไตยของนานาอารยประเทศที่ความขัดแย้งต่าง ๆ จบลงที่การเลือกตั้ง เช่น ที่อาเจะห์ ยุโรปตะวันออก ฯลฯ ลำพังการมีรัฐบาลรักษาการก็คงไม่สามารถวางแผนการพัฒนาประเทศให้เป็นที่มั่นใจของนานาอารยประเทศได้
การเลือกตั้งโดยไม่ชักช้าจะส่งผลดี ดังนี้:
1. ทำให้ความกังวลที่ต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว นักลงทุนที่เข้ามาในประเทศไทยคลายกังวล เพราะกฎอัยการศึก มีระดับความรุนแรงกว่าการใช้ พรบ.ความมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา
2. ทำให้เงินสะพัด ทั้งนี้ไม่ใช้จากการซื้อเสียง แต่หมายถึงการทำป้าย การโฆษณาหาเสียงตามงบประมาณที่กำหนด ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างเด่นชัด
3. เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติในระยะยาวว่าประเทศไทยปฏิบัติตามครรลองประชาธิปไตยสากล
4. ส่วนประโยชน์ในการทางการเมือง อันได้แก่การรักษาอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ก็เป็นผลดีสำคัญประการหนึ่ง
หากพิจารณาในแง่ระยะเวลา เชื่อว่าภายในกำหนด 1-2 เดือนนี้ การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ คงมีน้อยลง โดยในปี พ.ศ.2556 แต่ละเดือนมีโครงการเปิดใหม่ 40 โครงการ แต่ลดลงเหลือ 30 โครงการในเดือนธันวาคม 2556 ส่วนในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน 2557 มีโครงการแต่น้อยเพียงเดือนละ 25, 22, 30 และ27 โครงการตามลำดับ เชื่อว่ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน คงมีการเปิดตัวโครงการน้อยกว่านี้อีกตามภาวะการเมือง
อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 และได้มีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับได้ในเชิงสากลแล้ว ก็คงทำให้เกิดโครงการขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการอั้นของอุปสงค์และอุปทานในช่วงนี้ โดยจากข้อมูลไตรมาส 1/2557 จำนวนอสังหาริมทรัพย์เกิดใหม่ลดลงกว่าไตรมาส 1/2556 ถึง 42% แต่หากประมวลทั้งปี เชื่อว่าปี 2557 จะมีโครงการเปิดใหม่น้อยกว่าปี 2556 เพียง 30% เพราะแรงเปิดตัวใหม่ที่เพิ่มขึ้นหลังกลับสู่ความสงบ
นักลงทุนจึงไม่พึงตกใจกับภาวะในขณะนี้และหวังให้ทุกฝ่ายช่วยกันประคับประคองให้ประเทศกลับสู่ความสงบโดยเร็ว