กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 110.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 103.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- สถานการณ์ภายในประเทศลิเบียเปราะบาง อาทิ Libya’s Sirte Oil Company ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการท่าส่งออกน้ำมันดิบ Brega ซึ่งมีกำลังการส่งออก 120,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นท่าส่งออกน้ำมันทางภาคตะวันออกเพียงแห่งเดียวที่เปิดทำการในรอบ 9 เดือน ถูกเข้ายึดโดยกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งเรียกร้องให้บริษัทจ้างตนเองเข้าเป็นพนักงาน ส่งผลให้บริษัท Sirte และแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Brega ( มีกำลังการผลิตที่ 70,000 บาร์เรลต่อวัน) ต้องหยุดดำเนินการ
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานกลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มสถานะการซื้อสุทธิสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ WTI (Net Long Positions) ที่ตลาด NYMEX นิวยอร์ก และที่ตลาด ICE ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 14,112 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 350,331 สัญญา
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ค. 57 ลดลง 7.2 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 391.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Bloomberg คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 57 ที่ลดลง อยู่ที่ 6.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 40
- กรมกงศุลกากรจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของจีน เดือน เม.ย. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 6.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศตะวันออกกลางที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเติบโต 0.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับสูงสุดในประวิติศาสตร์ที่ 3.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- HSBC/Markit Economic รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้น (Flash Manufacturing PMI) ของจีนในเดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 1.6 จุด จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด อย่างไรก็ตามค่า PMI ที่ระดับต่ำกว่า 50 จุด แสดงถึงสภาวะเศรษฐกิจหดตัว
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 28,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 326,000 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Bloomberg คาดการณ์
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความไม่สงบในประเทศผู้ผลิต โดยเฉพาะลิเบีย ซึ่งขัดแย้งรุนแรงเกิดความแตกแยกครั้งใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีคนล่าสุด นาย Ahmed Maiteeq ทีได้รับเลือกมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ถูกต่อต้านจากกลุ่มที่นำโดยอดีตนายพล Khalifa Haftar รวมกับแรงกดดันยืดเยื้อจากกลุ่มผู้ประท้วงที่เข้ายึดแหล่งผลิตและท่อขนส่งปิโตรเลียม ประกอบกับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นบวก อาทิ ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นและดีกว่าที่คาด และ Sub-Index ของ PMI ด้านผลผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปีกว่า รวมทั้งรัฐบาลจีนเข้ากระตุ้นสภาพคล่องแก่ภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม IAEA รายงานอิหร่านได้ลดปริมาณสำรองยูเรเนียมเกรดสูง ลงประมาณ 82% ภายใต้ข้อตกลงชั่วคราว ลดความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและกลุ่มชาติตะวันตก ทั้งนี้ให้จับตามองสถานการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีในยูเครนที่ยังคงไม่แน่นอน โดยผู้คนนับล้านในภูมิภาคตะวันออกไม่สามารถเข้าร่วมออกเสียงลงคะแนน เนื่องจากความไม่สงบจากการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายต่อต้านที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเพื่อไปผนวกกับรัสเซีย สัปดาห์นี้คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 110-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 106-108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 102-105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น และปริมาณอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากใกล้เข้าสู่เทศการถือศีลอดของชาวมุสลิม ซึ่ง Reuters คาดการณ์อินโดนีเซียมีแผนนำเข้า Gasoline ชนิด 88RON เดือนมิ.ย. 57 สูงกว่าระดับปริมาณนำเข้าเดือนก่อนหน้าที่ 8.6 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. 57 ลดลง 213,000 บาร์เรล หรือ 1.8% จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 11.76 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวที่ระดับ 122 – 124 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น PAJ รายงานปริมาณสำรอง Gas Oil เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค. 57 ลดลง 100,000 บาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า หรือ 1.1 % อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรล ปริมาณอุปสงค์ Gasoil ในตลาดสิงคโปร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงแข็งแกร่ง โดยมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่อง กอปรกับแรงซื้อจากประเทศมุสลิม เพื่อเตรียมเก็บสำรองก่อนช่วงรอมฎอน หรือเทศกาลถือศีลอด ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122-124 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล