กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการเติบโตที่สม่ำเสมอและเชื่อถือได้ของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานซึ่งเกิดจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนของบริษัทที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต ตลอดจนปัญหาความไม่สงบทางการเมือง และการลงทุนขนาดใหญ่ในสัมปทานทางด่วนโครงการใหม่ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทควรดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังในช่วงการลงทุน ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับคุณภาพเครดิตเอาไว้
บริษัททางด่วนกรุงเทพเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนต่อขยายของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และทางด่วนส่วน C+ จะหมดอายุในปี 2563 ปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ ทั้งนี้
ทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. จึงเป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด บริษัทและ กทพ. มีการแบ่งรายได้ค่าผ่านทางระหว่างกันในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ในเขตเมือง (ส่วน A และ B) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนหมดอายุสัมปทาน สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทกับ กทพ. คือ 40% ให้แก่บริษัท และ 60% ให้แก่ กทพ. สำหรับในเขตนอกเมือง ในขณะที่ส่วน C ส่วน D และ ส่วน C+ นั้นบริษัทไม่ต้องแบ่งรายได้กับ กทพ. นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสัมปทานโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ส่วน SOE) ด้วย โดยสัญญาสัมปทานเป็นแบบระบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีและมีระยะเวลาการก่อสร้างไม่เกิน 48 เดือน ซึ่งบริษัทจะได้รับรายได้ค่าผ่านทาง 100% ทั้งนี้ โครงการมีมูลค่าการลงทุน 25,491 ล้านบาท โดยบริษัทได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559 ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้างนั้นเป็นไปตามแผนของบริษัท
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลจากการเติบโตที่สม่ำเสมอของปริมาณการจราจรบนเครือข่ายทางด่วนของบริษัท ในปี 2556 ปริมาณจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้น 1.4% เฉลี่ยอยู่ที่ 1.100 ล้านเที่ยวต่อวัน จากปี 2555 ที่ 1.085 ล้านเที่ยวต่อวันแม้จะมีการปรับขึ้นค่าผ่าน ในเดือนกันยายน 2556 แล้วก็ตาม บริษัทปรับขึ้นค่าผ่านทางของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ในอัตรา 5-10 บาทตามประเภทของยานพาหนะ และในเดือนพฤศจิกายน 2556 ได้ปรับขึ้นค่าผ่านทางส่วน C+ ในอัตรา 5 บาทสำหรับรถ 6-10 ล้อ และ 10 บาทสำหรับรถ 10 ล้อขึ้นไป รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวันในปี 2556 เท่ากับ 22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากปีก่อน ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง และการเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคครัวเรือนส่งผลด้านลบต่อความต้องการใช้ทางด่วนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 กล่าวคือ ปริมาณจราจรบนทางด่วนโดยเฉลี่ยต่อวันลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.070 ล้านเที่ยวต่อวัน การลดลงดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในทางด่วนเขตเมือง อย่างไรก็ดี รายได้ค่าผ่านทางเฉลี่ยต่อวันเติบโต 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 22.5 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นค่าผ่านทางในปี 2556
ฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง แม้บริษัทจะมีอัตรากำไรที่สูง แต่ก็มีภาระหนี้จากการลงทุนในระดับสูงเช่นกัน ในปี 2556 บริษัทมีรายได้ค่าผ่านทาง 8,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2557 ที่แม้จะมีปริมาณการจราจรลดลง แต่รายได้ค่าผ่านทางของบริษัทยังเพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 2,045 ล้านบาท ฐานะสภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลงโดยมีสาเหตุหลักมาจากการลงทุนในโครงการ SOE ซึ่งบริษัทมีแผนการลงทุนโดยใช้เงินกู้ระยะยาวประมาณ 75% ของมูลค่าการลงทุน หรือ 19,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะเป็นกระแสเงินสดภายในบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 บริษัทมีเงินกู้ที่ใช้สำหรับโครงการ SOE รวม 5,400 ล้านบาท ส่งผลให้หนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 29,984 ล้านบาท และทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 19.70% (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในไตรมาสแรกของปี 2557 เปรียบเทียบกับ 21.62% ในปี 2556
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 บริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 12 เรื่อง ข้อตกลงสัมปทานบริการ ซึ่งภายใต้สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 นั้น บริษัทมีภาระผูกพันในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างทางด่วนที่ต้องจ่ายให้แก่ กทพ. จำนวน 16,816 ล้านบาท การปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ส่งผลให้บริษัทต้องบันทึกหนี้สินจากภาระในการจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวและต้องคำนวณภาระหนี้ดังกล่าวใหม่ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้มีการปรับปรุงงบการเงินของบริษัท ณ วันที่ 1 มกราคม 2557 คือ บริษัทมีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเพิ่มขึ้น 1,895 ล้านบาทตามสิทธิที่เหลือในการใช้พื้นที่ก่อสร้างทางด่วน และมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจากภาระในการจ่ายค่าทดแทนดังกล่าว 7,620 ล้านบาท และมีผลให้กำไรสะสมของบริษัทลดลง 4,833 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินดังกล่าวไม่มีผลให้บริษัทต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นและไม่กระทบต่อตารางการจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างทางด่วนจริงตามที่บริษัทได้ตกลงไว้กับ กทพ.
ในการวิเคราะห์ฐานะการเงินของบริษัท ทริสเรทติ้งได้มีการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันในการจ่ายค่าทดแทนสำหรับการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างทางด่วนดังกล่าวให้เป็นภาระหนี้ของบริษัทไว้แล้ว อย่างไรก็ดี การปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ก็ส่งผลกระทบต่อทั้งภาระหนี้และส่วนของผู้ถือหุ้นด้วย กล่าวคือ ทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มสูงกว่าที่มีการประมาณการไว้เล็กน้อย หลังการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ บริษัทมีเงินกู้รวม (ที่มีการปรับปรุงแล้ว) ต่อโครงสร้างเงินทุนเท่ากับ 59.86% ในปี 2556 เมื่อเทียบกับ 55.17% ในปี 2555 และเพิ่มขึ้นเป็น 61.84% ในไตรมาสแรกของปี 2557 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนในโครงการทางด่วนใหม่ของบริษัท
แม้ความต้องการใช้ทางด่วนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ทริสเรทติ้งคาดการณ์โดยภาพรวมแล้วเห็นว่าความต้องการใช้ทางด่วนยังมีแนวโน้มในทางบวกด้วยอัตราการเติบโตในระดับปานกลาง โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของปริมาณจราจร ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยไปยังเขตปริมณฑล ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 2%-5% ต่อไปในระยะ 3 ปีข้างหน้า และบริษัทจะดำรงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอเพื่อให้เพียงพอที่จะชำระหนี้ รวมทั้งลงทุนตามแผน และจ่ายเงินปันผล บริษัทได้รับการคาดหมายให้มีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 5,000-5,500 ล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาถึงต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนของบริษัทและการปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลกลับมาเป็น 30% ในปี 2558 ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและสูงสุดถึงระดับประมาณ 70% ในช่วงการก่อสร้างโครงการ SOE
บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BECL148A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A
BECL153A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
BECL163A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A
BECL163B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A
BECL16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A
BECL172A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A
BECL183A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A
BECL18NA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A
BECL192A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A
BECL203A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
BECL214A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable