กรุงเทพ--3 ก.ค.--ธ.กสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทยและกรุงไทย จับมือร่วมบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ องค์การโทรศัพท์ฯ มูลค่า 8,000 ล้านบาท จำนวนสมาชิก 2.6 หมื่นราย กสิกรไทยว่า มีบริษัทเอกชน 10 กว่ารายเตรียมให้บริหารกองทุนฯ คาดภายในปีนี้จะอยู่อันดับ 1 ใน 5 ของตลาดบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ให้เป็นผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ซึ่งนับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งที่ 8 ที่กสิกรไทย เป็นผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ นอกจากนั้นแล้วธนาคารกสิกรไทยยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำระบบทะเบียนสมาชิกและระบบบัญชีทั้งหมด ทั้งนี้หากพนักงานทศท.สมัครเป็นสมาชิกทุกคนจะมีจำนวนสมาชิกประมาณ 26,000 คน และมีมูลค่ากองทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มบริหารกองทุนได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป
และจากการที่ธนาคารได้รับความสำเร็จอย่างสูงในการให้บริการโทรศัพท์อัตโนมัติ เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้ข้าราชการทั่วประเทศในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นธนาคารฯ จึงเตรียมให้บริการโทรศัพท์อัตโนมัติแก่พนักงานองค์การโทรศัพท์ฯ เพื่อให้ความรู้และสอบถามรายละเอียดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก่อนการสมัครเป็นสมาชิก โดยมีกำหนดระยะเวลาให้บริการ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม - 15 สิงหาคม 2540 ซึ่งพนักงานองค์การโทรศัพท์ฯ สามารถใช้บริการได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-470-3456
นายบุญทักษ์ กล่าวเสริมว่า จากการที่ธนาคารฯ ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อกลางปีที่แล้ว ปรากฎว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารฯ ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างสูง โดยขณะนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากนายจ้างกว่า 30 ราย จำนวนกองทุน 11 กองทุน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ธนาคารฯ ประสบความสำเร็จในการรุกตลาดดังกล่าว โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจชั้นนำไปแล้ว 7 แห่ง คือ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การบินไทย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สำนักงานธนานุเคราะห์
นอ่กจากตลาดรัฐวิสาหกิจที่ได้รับความสำเร็จอย่างสูงแล้ว ปัจจุบันธนาคารฯ ได้มุ่งเป้าหมายไปที่บริษัทเอกชนขนาดกลางและใหญ่ โดยเน้นบริษัทที่มีกองทุนฯ อยู่แล้ว และต้องการเปลี่ยนผู้จัดการกองทุน และบริษัทเอกชนที่มีความประสงค์ที่จะจัดตั้งกองทุนใหม่ ซึ่งในขณะนี้มีลูกค้าที่เป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ได้แต่งตั้งให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอยู่ในระหว่างการโอนทรัพย์สินจากผู้จัดการรายเดิมอยู่หลายราย เช่น กลุ่มบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ และบริษัท สยามสตีล ซินดิเก็ต เป็นต้น
อีกทั้งยังมีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อีกหลายรายที่กำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งกองทุนและเลือกธนาคารฯ ให้เป็นผู้บริหารกองทุนแล้ว เช่น บมจ.โทเทิล แอ็กเซส คอมมูนิเคชั่น (TAC) และ บมจ.ชลประทานซิเมนต์ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ยังมีบริษัทเอกชนขนาดเล็กที่ธนาคารฯ เตรียมการจดทะเบียนอีกประมาณ 5 ราย ซึ่งรวมแล้วคาดว่าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จะมีลูกค้าจากบริษัทเอกชนที่แต่งตั้งให้ธนาคารฯ เป็นผู้จัดการอีกกว่า 10 ราย โดยธนาคารฯ มีความมั่นใจว่าภายในสิ้นปีนี้ จะอยู่ในอันดับ 1 ใน 5 สถาบันการเงินที่ครองส่วนแบ่งตลาดการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงที่สุดอย่างแน่นอน
นายบุญทักษ์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารฯ ประสบความสำเร็จในตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากธนาคารฯ เน้นประสิทธิภาพในการให้บริการและการบริหารกองทุน ซึ่งมาจากความเชี่ยวชาญของบุคลากร โดยเฉพาะด้านการบริหารเงินลงทุน ธนาคารยึดหลักทั้งผลตอบแทนที่ดี และความมั่นคงที่เหมาะกับสถานการณ์ โดยมีข้อมูลสนับสนุนจากทีมวิจัยที่ถูกต้อง แม่นยำ และทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะสามารถยืนยันได้จากในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินต่าง ๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะล่าสุดกรณี 16 สถาบันการเงินถูกระงับการดำเนินธุรกิจชั่วคราว การลงทุนของธนาคารฯ ทั้งหมดที่ลงทุนให้กับลูกค้ากองทุนฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกระงับการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินต่าง ๆ ดังกล่าวเลย--จบ--