กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป และ นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยวาง “5 มาตรการ บสย.เพื่อSMEs” เพื่อนำเสนอต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาเร่งด่วน ดังนี้
1.มาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน โดยการยืดระยะเวลาการชำระออกไปอีก 6 เดือน โดยมาตรการนี้ จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าเดิมบสย. ที่จะถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ถึง 31 ธันวาคม 2557 โดยมีลูกค้า บสย. ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว จำนวน 50,067 ราย คิดเป็นภาระค้ำประกันประมาณ 165,000 ล้านบาท ซึ่งบสย.จะช่วยให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 2,800 ล้านบาท มาตรการนี้ บสย. ดำเนินการเอง โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐ
2.มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ระหว่างการขอสินเชื่อ โดยมี บสย. ค้ำประกัน โดยเบื้องต้น บสย. ได้หารือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เพื่อขอพิจารณาสนับสนุนเงินค่าธรรมเนียมให้กับลูกค้า ทั้งนี้ สสว. จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก คิดเป็นเงินสนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันวงเงิน 262.50 ล้านบาท มีวงเงินค้ำประกันรวมไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ ไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 26,000 ล้านบาท สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 146,000 ล้านบาท
3.นำเสนอขออนุมัติ ให้รัฐจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 วงเงิน 55,000 ล้านบาท โดย บสย. ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณ สำหรับโครงการนี้ จำนวน 962.50 ล้านบาท
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
- ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้ประมาณ 11,000 ราย
- ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 94,000 ล้านบาท
- สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 534,000 ล้านบาท
4. นำเสนอขออนุมัติ ให้รัฐให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการกลุ่มรายย่อย Micro SMEs ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดย บสย.ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณ สำหรับโครงการนี้ วงเงิน1,150 ล้านบาท
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
- ช่วยให้ผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 50,000 ราย
- ช่วยสร้างอาชีพให้กับธุรกิจในครัวเรือนประมาณ 150,000 คน
- ลดต้นทุนการกู้ยืมเงินนอกระบบประมาณ 15-30%
- ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท
- สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 48,500 ล้านบาท
5. นำเสนอขออนุมัติให้รัฐ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP ในโครงการ ค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการ OTOP วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยบสย. ขอพิจารณาอนุมัติงบประมาณ สำหรับโครงการนี้ วงเงิน 1,600 ล้านบาท
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
- ช่วยให้ผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 10,000 ราย
- ช่วยสร้างอาชีพให้กับธุรกิจในชุมชนประมาณ 70,000 คน
- ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท
- สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 97,000 ล้านบาท
โดย มาตรการที่ 1 และ 2 บสย. จะเป็นผู้ดำเนินการเอง สำหรับมาตรการที่ 3- 5 เป็นมาตรการที่เตรียมนำเสนอต่อ คสช. เพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังประสบปัญหา ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เข้าไม่ถึงแหล่งทุน และช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว