กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--สำนักงาน กปร.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ทำการศึกษาและประเมินผลโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ซึ่งกำเนิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เพื่อช่วยเหลือราษฎรมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 14 ปี โดยจัดตั้งสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม บ้านแปกแซม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแห่งแรกในปี 2543 และหลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งสถานีอื่นๆ มาเป็นลำดับ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ครอบคลุมใน 6 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา พิษณุโลก กำแพงเพชร มีจำนวนทั้งสิ้น 18 สถานี โดยได้ดำเนินการประเมินผลใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านป่าไม้ เน้นการฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำ และการส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการป้องกันฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรมให้มีสภาพที่สมบูรณ์ขึ้น มีผลผลิตจากป่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน และด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ได้แก่ จัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรกรรม การส่งเสริมให้ราษฎรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ รวมถึงด้านการบริหารจัดการโครงการฯ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการดำเนินโครงการฯ
นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กล่าวว่า สำนักงาน กปร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการฯจึงเห็นควรจัดให้มีการประเมินผลโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริ เพื่อประมวลเรื่องให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินงาน และรูปแบบในการบริหารจัดการโครงการฯ ที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และนำผลของการประเมินไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และแนวทางในการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเฉพาะที่อยู่บนพื้นที่สูง และอื่นๆ ต่อไป การประเมินได้เลือกสถานีเป็นกรณีศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ สถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแปกแซม จังหวัดเชียงใหม่ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ
ปางขอน จังหวัดเชียงราย และสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน ในการประเมินผลฯ นั้นได้มีการดำเนินการอย่างครอบคลุม นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโครงการฯ ไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ประกอบด้วย ชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 2 หมู่บ้าน ประมาณ 195 ครัวเรือน ประชากร 800 คน พื้นที่จังหวัดเชียงราย ชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า และเผ่ามูเซอ จำนวน 3 หมู่บ้าน ประมาณ 400 ครัวเรือน ประชากร 2,200 คน และชาวไทยภูเขาเผ่าลั๊ว จำนวน 2 หมู่บ้าน ประมาณ 200 ครัวเรือน ประชากร 980 คน ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นผู้ทำการศึกษา และติดตามผลการประเมินผล ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ดำเนินงานศึกษาเอกสาร ติดตามเก็บข้อมูลภาคสนาม และวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำ (ร่าง) สรุปผลการประเมินโครงการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้วและเพื่อให้สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ตลอดจน สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบผล และร่วมกันพิจารณาความครบถ้วนของรายงานการประเมินผลโครงการฯ ดังกล่าว รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับการดำเนินงานโครงการฯ ในระยะต่อไป
ในการสัมมนาฯ ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยงข้องที่เป็นส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.)สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11(พิษณุโลก) 12(นครสวรรค์) 13(แพร่) 15(เชียงราย) และ 16(เชียงใหม่) โครงการชลประทานเชียงราย โครงการชลประทานเชียงใหม่ โครงการชลประทานน่าน หัวหน้าสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 18 สถานี และผู้แทนในส่วนของราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เป็นต้น
โอกาสนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ได้กล่าวในพิธีเปิดการสัมมนาที่ โรงแรม ดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท เชียงราย จังหวัดเชียงราย ว่า โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรทีสูงตามพระราชดำริ เป็นโครงการรูปแบบหนึ่งในหลายๆ โครงการ ซึ่งได้ดำเนินงานมาเป็นเวลาประมาณ 14 ปี โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริที่ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลานานนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหลายๆ มิติ ซึ่งต่างก็ล้วนเอื้ออำนวย ก่อให้เกิดประโยชน์สุขกับราษฎร พร้อมๆ กับช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยียนโครงการต่างๆ เป็นประจำในแต่ละปี เป็นจำนวนหลายโครงการฯ ในปลายปี 2556 และต้นปี 2557ที่ผ่านมานี้ ได้เดินทางไปสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม บ้านแปกแซม จังหวัดเชียงใหม่ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านปางขอน จังหวัดเชียงราย และสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ
ภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน พบว่า จากภาพของอดีตที่สภาพพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ลดลงราษฎรประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอย แพ้วถางและเผาป่า ภาพในปัจจุบันมิได้เป็นไปเช่นนั้น ภาพที่เห็นเป็นภาพของการพัฒนาในหลายๆ เรื่อง เช่น ป่าไม้ได้รับการฟื้นฟู ได้รับการดูแล หวงแหน และพื้นที่ป่าไม้มีเพิ่มมากขึ้นจากการปลูกป่าหรือพืชเศรษฐกิจทดแทน มีการรวมกลุ่มและส่งเสริมการปลูกพืช ตลอดจนหาช่องทางการตลาดให้แก่ราษฎร ทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้นจนราษฎรในบางโครงการเป็นที่กล่าวขานกันว่า มีรายได้จากการประกอบอาชีพตามแนวทางของโครงการฯ จำนวนถึงล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นที่สังเกตเห็นเช่นกันได้ว่า สภาพพื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ที่ดีขึ้นนั้น ยังคงมีพื้นที่อีกหลายๆ ส่วน ที่จำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณาดำเนินการฟื้นฟูแก้ไขอีกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตรอยต่อหรือใกล้เคียงของโครงการ และการดำเนินการตามแผนงานหรือกิจกรรมใดๆ นั้น ก็สมควรที่จะได้รับการพิจารณาให้เป็นพื้นที่ยอมรับจากประชาชนในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการพัฒนาด้วยเพื่อสนองพระราชดำริและเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผมขอฝากให้พวกเรา เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานทุกท่าน ได้ร่วมมือ ร่วมใจกันสืบสาน แนวพระราชดำริของโครงการให้บังเกิดผลประโยชน์สูงสุด และให้เกิดความยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน ผลสรุปของบทเรียน หรือกรณีศึกษาดังกล่าว ที่จะได้จากการติดตามประเมินผลครั้งนี้ก็น่าที่จะเป็นประโยชน์ และให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เรียนรู้ และสามารถประยุกต์ใช้อย่างยั่งยืนต่อไป