ผลสำรวจแกรนท์ ธอนตันชี้ สถานการณ์ในยุโรปเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ไทยอาจพลาดโอกาสที่ดี ในการสานต่อเรื่องเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 28, 2014 14:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย แกรนท์ ธอนตัน เผยผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในยุโรป ที่แม้จะยังคงมีปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากวิกฤตหนี้สาธารณะอยู่ แต่เหล่าผู้นำทางธุรกิจยังคงให้การสนับสนุนระบบสกุลเงินยูโรเป็นอย่างดี ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านบวกต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน เราอาจสูญเสียโอกาสที่ดีในเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (Thailand-EU FTA ) เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายดีนัก ผลสำรวจล่าสุด จากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของแกรนท์ ธอนตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในสหภาพยุโรป แสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 93 ของ นักธุรกิจในเขตยูโรโซนต้องการที่จะเห็นระบบสกุลเงินยูโรอยู่รอดต่อไป และกว่าร้อยละ 75 หรือ 3 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมสำรวจกล่าวว่า การเข้าสู่ระบบสกุลเงินเดียวช่วยให้องค์กรของพวกเขาได้รับผลประโยชน์ ขณะที่ทัศนคติด้านบวกต่อภาพรวมธุรกิจ ได้เพิ่มขึ้นทั่วเขตยูโรโซนจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 25 ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา คุณกัญญาณัฐ ศรีรัตน์ชัชวาล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชีของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า “ในปี 2556 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรปนั้น สูงถึงเกือบร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นการที่ยุโรปมีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ตลอดจนทัศนคติด้านบวกที่ปรับตัวดีขึ้น ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศไทยด้วยเช่นกัน การแข็งตัวของค่าเงินยูโรอาจมีส่วนช่วยให้เกิดกำลังซื้อมากขึ้น แต่การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคมในปีที่ผ่านมาอาจต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองในไทยที่ยังไม่คลี่คลายและทิศทางที่ชัดเจนนัก ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลในทางลบต่ออัตราภาษีศุลกากรและสิ่งอื่นๆ ที่อาจตามมา ซึ่งส่งผลให้สินค้าของเราต้องประสบปัญหาด้านการแข่งขันในยุโรป” อย่างไรก็ตาม เมื่อผลสำรวจได้ถามถึงการรวมตัวทางด้านอื่นๆ ที่เหล่าผู้นำทางธุรกิจในยโรปต้องการจะเห็นจากการรวมตัวกันระหว่างประเทศสมาชิก ผู้นำธุรกิจในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีต่างมีผลคะแนนเกี่ยวกับความคิดเห็นเชิงบวกที่ลดลงเมื่อเทียบกับผลสำรวจในปีก่อน โดยมีเพียงมีร้อยละ 55 ในประเทศเยอรมนี ที่พร้อมเปิดโอกาสสำหรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ลดลงกว่าร้อยละ 20 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ที่ร้อยละ 57 ลดลงไปร้อยละ 12 จากการสำรวจในปีก่อนเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน การสนับสนุนในเรื่องของสหภาพทางการเมืองในยุโรปของประเทศเยอรมนีได้ลดลงจากร้อยละ 61 ในปี 2556 เหลือร้อยละ 53 ในปีนี้ เช่นเดียวกับในประเทศฝรั่งเศสที่ลดจากร้อยละ 35 เหลือเพียงร้อยละ 22 ขณะที่สัดส่วนของผู้นำทางธุรกิจในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีที่ไม่ต้องการให้มีการรวมตัวในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมภายในยุโรป ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 11 และ 17 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับร้อยละ 2 และ 6 จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา คุณกัญญาณัฐ ได้ให้ความเห็นว่า “ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้นำธุรกิจในยูโรโซนส่วนใหญ่ ยังคงมุ่งมั่นต่อความสำเร็จของระบบสกุลเงินเดียว ซึ่งถือเป็นหนทางหนึ่งในการผลักดันภูมิภาคนี้ ให้ฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้สาธารณะของตน แต่ตอนนี้พวกเขาอาจเริ่มไม่ค่อยแน่ใจ ในการรวมตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่ในอดีตถือได้ว่าเป็นผู้ผลักดันสำคัญเบื้องหลังการรวมตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ยิ่งในช่วงเวลาที่การฟื้นตัวในภูมิภาคนี้ยังคงเปราะบางต่อการปฏิรูปสหภาพยุโรป อย่างเช่น การเชื่อมโยงของภาคธนาคารโดยอยู่ภายใต้กฎระเบียบและหน่วยงานกำกับเดียวกัน (Banking Union) ที่ยังอยู่ในระยะแรกเริ่ม มันอาจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า ดุลยภาพหรือความสมดุลในการรวมตัวของสหภาพยุโรปปัจจุบันนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการช่วยเหลือในด้านธุรกิจจากสองประเทศสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดดังกล่าวเป็นอย่างดี” ผลสำรวจ IBR ยังแสดงให้เห็นว่า แม้จะเกิดความลังเลในการสนับสนุนทางธุรกิจสำหรับการรวมสหภาพยุโรป ในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่นประเทศไอร์แลนด์ ที่เพิ่มจากร้อยละ 50 ในปีก่อนเป็นร้อยละ 77 ในปีนี้ ประเทศโปแลนด์จากร้อยละ 54 เป็นร้อยละ 67 และประเทศอิตาลีจากร้อยละ 56 มาเป็นร้อยละ 61 โดยในประเทศไอร์แลนด์นั้น ร้อยละ 95 ของธุรกิจพร้อมเปิดโอกาสสำหรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 ในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา “เป็นที่แน่นอนแล้วว่า สถานการณ์โดยรวมของยุโรปในตอนนี้ มีความสดใสมากกว่าในช่วงสิบสองเดือนก่อนหน้านี้มาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว แม้จะยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดที่กำลังเพิ่มขึ้น ปัญหาการว่างงานของเยาวชนซึ่งยังคงสูงต่อเนื่อง หรือสถานการณ์ความไม่แน่นอนในยูเครน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจส่งผลให้ยุโรพลาดโอกาสในการได้รับการสนับสนุนสำหรับภาคธุรกิจ อันถือเป็นหัวใจสำคัญ ตราบเท่าที่การเปลี่ยนแปลงในทางบวกของภูมิภาคนี้ ยังคงดำเนินต่อไปและเริ่มมีความแข็งแกร่งมากขึ้น” คุณกัญญาณัฐ กล่าวเสริม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ