กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด.วธ.) กล่าวว่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม “ Ceremony for Commemoration of the Asian Human Living Treasures” ครั้งที่ 1 ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue-ACD) ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2557 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีการจัดกิจกรรมเผยแพร่แลกเปลี่ยนศิลปินพื้นบ้านและช่างฝีมือทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีการประชุม การแสดงนิทรรศการ การศึกษาดูงานด้านวัฒนธรรมและการมอบรางวัลช่างฝีมือชั้นเยี่ยมด้านหัตถกรรมให้กับศิลปินพื้นบ้านและช่างฝีมือชั้นเยี่ยมจากแต่ละประเทศสมาชิก ACD จำนวน 31 ประเทศ ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้พิจารณาคัดเลือกศิลปินพื้นบ้านและช่างฝีมือชั้นเยี่ยมด้านหัตถกรรมเพื่อเข้ารับรางวัลและจัดแสดงนิทรรศการในงานดังกล่าว ซึ่งศิลปินพื้นบ้านของประเทศไทยที่ได้รับการพิจารณาเข้ารับรางวัล ได้แก่ นางประนอม ทาแปง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ) ประจำปี 2553 ศิลปินที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาหัตถกรรมทอผ้าพื้นบ้านผ้าตีนจกเมืองลอง จังหวัดแพร่ และการย้อมสีครามธรรมชาติให้คงอยู่ รวมทั้งยังเป็นผู้สืบสาน พัฒนาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชนของตนเอง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเข้ารับรางวัลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร นายกสมาคมส่งเสริมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน (AHPADA) ไปเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “ปูชนียบุคคลและความพยายามของประเทศไทยในการสงวนรักษาและส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้าน” ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์อีกด้วย
ดร.ปรีชา (ปลัด.วธ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากศิลปินจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้แล้ว ยังมีศิลปินพื้นบ้านและช่างฝีมือชั้นเยี่ยมจาก 20 ประเทศอาเซียนที่ได้รับรางวัล อาทิ ประเทศศรีลังกา ลาวกัมพูชา ภูฏาน เวียดนาม กาตาร์ อิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และคูเวต ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมภายใต้กรอบ ACD ที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของเอเชียในระดับประชาชนสู่ประชาชน โดยการทำความรู้จักกันและกันให้มากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการศึกษาความเชื่อมโยงทางกายภาพของเอเชีย รวมทั้งการศึกษาแลกเปลี่ยนด้านประวัติศาสตร์/วัฒนธรรมของชาติเอเชียตามรอยเส้นทางสายไหม ทั้งยังเป็นประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ และส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ช่างฝีมือชั้นเยี่ยมด้านหัตถกรรมของประเทศในแถบเอเชียด้วย