กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สสส.
เป็นความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. พร้อมจะผลักดันการปลูกฝังนิสัยเด็กไทยรู้รักการอ่าน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิต ล่าสุดเปิดเวทีเสวนาในงานอภิวัฒน์การอ่าน จุดเปลี่ยนประเทศไทย ขยายองค์ความรู้สู่ผู้คนเข้าใจและเข้าถึงแนวทางการสั่งสมคุณภาพเด็กไทยด้วยการอ่าน สามารถสร้างสุขแก่ครอบครัวและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังแม่ทัพคนเก่งคุณ สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรม สสส. เกริ่นว่า ทุกย่างก้าวล้วนต้องเริ่มต้นจากการอ่าน ซึ่งจะก่อความสามารถทำให้เกิดการเรียนรู้โลกยุคใหม่อย่างเท่าทัน แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านได้เน้นปูพรมส่งเสริมเรื่องนี้กับเด็กน้อยตั้งแต่ข่วงวัย 0 – 9 ขวบ ให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นการฝังเสาเข็มหลักลงในชีวิตเด็กทุกคน ซึ่งจะช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นี้เป็นอริยทรัพย์ติดตัวไปตลอดชีวิต อันเป็นรากฐานชีวิตที่สำคัญต่อไปในอนาคต มีงานวิจัยต่างๆชี้ชัดว่าเด็กช่วงวัยนี้ สมองเติบโตมากที่สุด หากละเลยช่วงนี้ไปพัฒนาการทางสมองจะค่อยๆ ลดลงและความสามารถด้านใดที่ไม่เคยถูกบ่มเพาะ เลยวัยนี้ไปสมองก็จะริดรอนความสามารถด้านนี้ไป ดังนั้นแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านจึงเปิดทุกกิจกรรมเพื่อให้ทุกครอบครัวเรียนรู้และสัมผัสกับสิ่งรอบตัวจริง โดยมีหนังสือเป็นสื่อมอบความรู้ให้กับครอบครัว กระตุ้นให้เกิดจินตนาการกว้างไกล เกิดสายสัมพันธที่ดีเชื่อมโยงสังคม มีความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม ด้วยการสร้างคนดี ควบคู่ความเก่ง เพราะพลังของการอ่านมีผลสะท้อนกลับต่อเด็ก ครอบครัว และสังคมได้เกินความคาดหมาย
ในโอกาสสำคัญนี้แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ยังได้เปิดกว้างกิจกรรมส่งเสริมการอ่านไปสู่ครอบครัวที่มีบุตรหลาน ที่อยู่ในภาวะออทิสติกด้วย เพราะหนังสือนับเป็นเครื่องมือที่ดีต่อการเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กกลุ่มนี้ ได้พัฒนาสมองและการเรียนรู้ได้ พร้อมยังเป็นการสื่อสารที่ดีร่วมกันของบุคคลภายในครอบครัว นำความอบอุ่นเข้ามาแทนที่วิตกกังวล และขจัดความหดหู่ของทั้งตัวเด็กและคนรอบข้างออกไปได้ด้วย
ดังประสบการณ์ตรงที่น่ายกย่องของคุณ นฏชมน นิลอ่อน หรือที่รู้จักกันดีในนามคุณแม่สาว ซึ่งประสบปัญหาเกิดกับลูกคนเล็ก (น้องพลาย) ช่วง 2 ขวบ 8 เดือน ซึ่งแสดงอาการต่างๆออกมาให้เห็นอย่าง การไม่สบตา เล่นคนเดียว กระตุ้นตัวเองสะบัดมือ เขย่งเท้า ไม่พูด ได้แต่ส่งเสียงกรี๊ด เวลาไม่ได้ดังใจ หรือจะเอาอะไรจะไม่บอก และเวลาออกข้างนอกก็จะเดินไม่หยุด ไม่ฟังใคร กลัวสิ่งที่ไม่ควรจะกลัว ทำอะไรเองไม่ได้ เปิดอกเล่าเพื่อเป็นกำลังใจสู่ครอบครัวอื่นว่า “ยอมรับเคยจมความทุกข์ราว 3 เดือนช่วงแรกที่ทราบ เกิดปัญหาการทะเลาะและการไม่เข้าใจของสามีเพราะรับไม่ได้ ต้องใช้ความอดทน ปรับความคิดใหม่ให้เป็นบวกและยอมรับสิ่งที่เกิด ตั้งหลักอีกครั้งเพื่อหันหน้าเลี้ยงเขาด้วยความเข้าใจ และใจเย็น ขณะเดียวกันกับสามีต้องค่อยอธิบายและปรึกษาร่วมกัน สุดท้ายเขาสามารถปรับตัวยอมรับ ทุกวันนี้กลายเป็นผู้ช่วยในการเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี ทำให้ครอบครัวกลับมามีความสุขอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นถึงความรักความอบอุ่นเกิดกับน้องพลายที่มีพัฒนาการดีขึ้นมาก เห็นผลทั้ง 3 ด้าน คือ 1. ทางร่างกายใช้การออกกำลังกายแก้ปัญหากล้ามเนื้ออข้อต่อหลวม แขนขา ไม่แข็งแรง 2. อารมณ์ และสังคมฝึกทุกอย่างตามสถานการณ์จริงจากการเข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นบ่อยครั้ง และ 3. ด้านการสื่อสาร การพูด การเรียนรุ้ โดยใช้หนังสือเป็นสื่อสำคัญ เป็นหัวใจที่ทำให้เป็นคนรักการอ่านไปโดยปริยาย อ่านออกเขียนได้ ทั้งที่ยังไม่เข้าเรียน ตลอดจนยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านทักษะสิ่งแวดล้อมรอบด้าน เช่น ฝึกการอ่านป้ายห้ามต่างๆ เพื่อไม่ทำในสิ่งที่ห้ามโดยเราไม่ต้องคอยเตือนได้อีกด้วย
“ ลูกกลายเป็นพลังวิเศษซึ่งทำให้ครอบครัวคิดแบ่งปันวิธีฝึกกับเด็กกลุ่มนี้ไปยังครอบครัวอื่น กระทั่งเขาเห็นประโยชน์จนเกิดการสนับสนุน ทำให้ขยายแนวทางการปลดล็อกปัญหาแก่สังคมได้เป็นอย่างมาก แม่ก็มีความสุขมากถึงขึ้นที่เคยหวังไว้ว่าหากถูกฉลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่1 จะนำเงินมาตั้งศูนย์ ฝึกเองเลย แต่ต้องกลับมาสู่ความจริงในสิ่งที่เราพอทำได้และทำได้จริง คือ ตั้ง Face book ในนาม แม่สาว น้องพลาย ขึ้นเพื่อส่งต่อวิธีที่เราใช้กับลูก ตั้งกลุ่มกับแม่ๆ ที่มีแนวทางเดียวกัน แบ่งปัน ชื่อกลุ่ม ศักยภาพพลังบวกออทิสติก และสร้างเพจนิทานสร้างได้ขึ้น บอกต่อกิจกรรมการใช้นิทานกับเด็กๆ กลุ่มพิเศษ ตามกำลัง และเวลาที่มี โดยต้องยึดการดูแลลูกเป็นหลักก่อน อย่างไรก็ดีสิ่งที่พยายามจะทำโครงการ นิทานสร้างได้ เกิดเป็นรูปธรรม คือ การส่งความสุขและพัฒนาการแก่เด็กๆทั้งในโรงเรียน และศูนย์บริการต่างๆ ที่มีเด็กกลุ่นนี้เรียนร่วม ผ่านคุณครูและผู้ปกครองได้นำหนังสือไปใช้ฟื้นฟูและยกระดับน้องๆ ลดปัญหาสังคม ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีอย่างแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. , สำนักพิมพ์ประภาคาร มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ได้ร่วมจัดกิจกรรม มอบหนังสือ และอุปกรณ์ส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กๆบ้างแล้ว ล่าสุดแม่ยังเขียนโครงการของบประมาณ ผ่านไปยังชมรมของสถาบันราชานุกูลซึ่งมาทำกิจกรรมนี้ด้วย”แม่สาวเติมเต็มให้ฟัง
พร้อมตบท้ายอย่างจริงใจว่า ปัจจุบันการฟื้นฟูเด็กกลุ่มนี้ ทุกครอบครัวยังทำบนฐานของการพึ่งตนเองมากกว่าการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ ซึ่งแม้จะสถาบันช่วยเหลือเด็กเหล่านี้มากกว่าอดีต แต่การช่วยเหลือยังไม่ตรงจุด และไม่ต่อเนื่อง เข้าไม่ถึงปัญหาแท้จริง เสมือนทำตามหน้าที่แต่ไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เสียดายงบประมาณ งบยังไม่กระจาย และยังจำกัดกลุ่มอยู่แค่กลุ่มเดียว อยากฝากแก่สังคมได้แต่เพียงว่า โปรดเข้าใจเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อจะได้มีที่ยืนและแสดงศักยภาพในสังคม แม้จะแตกต่างจากเด็กสภาวะปกติ แต่ไช่จะต้อยค่ากว่าคนอื่น ถ้าสังคมไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ อาจจะแสดงอาการรังเกลียด หรือกลัว มองภาพที่ไม่ดี ตลอดจนครอบครัวต้องไม่ท้อ อย่ากลัว อย่ากังวล เพียงแต่เปิดใจให้กว้าง ทุ่มเท เสียสละตนเองดูแลลูกด้วยหนังสือ ซึ่งถึอเป็นเครื่องมือสร้างพัฒนาได้เป็นอย่างดี ที่อยากเห็นมากสุดคือการมีกิจกรรมนิทานวิเศษ เพื่อเด็กพิเศษ ไปทั่วประเทศจะเติมคุณค่าชีวิตเด็กเหล่านี้ให้ดีขึ้นแน่นอน
หากทุกครอบครัวเพียงแต่เปิดใจ มองโลกให้กว้าง หนังสือคือสูตรสำเร็จของการอ่านอันมีค่าในการเปิดโลกทัศน์ทั้งต่อตนเอง และลูกน้อย เพื่อสร้างสุขและรอยยิ้มอาย่างเปี่ยมสุขในทุกสภาวะแห่งการเป็นครอบครัว