กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)จับมือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. และเครือข่ายการศึกษากว่า 30 หน่วยงานเปิดโมเดลพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ช่วงเปิดภาคเรียนของนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลายในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ผ่านเวทีการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ พ.ศ. 2557 – 2559 ของกลุ่มเครือข่ายการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาด้านความซื่อตรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านการกู้ยืมเงินผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งปัจจุบันพบสถิติว่า สัดส่วนในการคืนเงินของผู้กู้ยืมมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ทั้งนี้ ศูนย์คุณธรรมและเครือข่ายการศึกษา ได้การเสนอแนะแนวทางเสริมสร้างคุณธรรมสู่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาต่างๆ ผ่านโมเดลคุณธรรม 4 ประการ ได้แก่1.การสร้างวัฒนธรรมด้านความซื่อตรงในสถานศึกษา 2.การแก้ไขประเด็นด้านคุณธรรมความซื่อตรงที่เป็นปัญหาใหญ่ก่อน เช่น การกู้ยืมค่าเล่าเรียนแล้วไม่คืน การรับเงินนอกระบบหรือแป๊ะเจี๊ยะ การลอกข้อสอบของนักเรียน 3.การใช้รูปแบบการประเมินผลคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา 360 องศา4.การแปลงองค์ความรู้ด้านคุณธรรมไปสู่การปฏิบัติ แทนการท่องจำจากตำราเรียนพร้อมกันนี้ ได้มีการเสนอรายชื่อ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. เทียนฉาย กิระนันท์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรมและศาสตราจารย์กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล อดีตผู้บริหารโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อรับตำแหน่งที่ปรึกษาของคณะทำงานส่งเสริมคุณธรรมในสถานศึกษาอย่างเป็นทางการด้วยอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ได้มีการเริ่มต้นการดำเนินงานขับเคลื่อนคุณธรรมในสถานศึกษาบางแห่งแล้ว อาทิ การจัดตั้งโครงการเข้าวัดวันเสาร์ – อาทิตย์ สำหรับนักศึกษาเข้าใหม่ของโรงเรียนนายเรือ โครงการปฏิบัติธรรมในวันพ่อและวันแม่ของโรงเรียนเตรียมทหาร และโครงการบันทึกความดีที่ทำเพื่อคนไข้ของนักเรียนวิทยาลัยพยาบาล เป็นต้น ซึ่งโครงการดังกล่าว นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการปลูกฝังให้เยาวชนไทยได้รู้จักมุมมองในการปฏิบัติตนบนพื้นฐานของคุณธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้อีกด้วย
สำหรับผู้สนใจองค์ความรู้ด้านคุณธรรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 02-644-9900 หรือ www.moralcenter.or.th
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)หรือ สมศ.กล่าวถึงสถานการณ์ด้านคุณธรรมในสถานศึกษาว่า จากการประเมินผลทางด้านความซื่อตรงของสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ซึ่งประเมินจากคุณธรรมในหลายประเด็น ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ฯลฯ พบว่า นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา มีคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์ลดน้อยลง และมีแนวโน้มว่า นักเรียนในระดับชั้นที่สูงกว่า จะยิ่งมีระดับคะแนนด้านความซื่อสัตย์น้อยกว่านักเรียนที่ยังเล็ก โดยเฉพาะเรื่องการเก็บของได้แล้วไม่คืน การลอกการบ้าน การมาสาย ส่วนปัญหาสำคัญที่พบมากในระดับมหาวิทยาลัยคือ การกู้ยืมเงินค่าเล่าเรียนจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ซึ่งพบว่า ผู้ที่กู้ยืมเงินไปศึกษาต่อ เมื่อจบออกมามีงานทำแล้ว กลับไม่นำเงินมาคืน โดยปัจจุบันนี้ มีสัดส่วนการคืนเงินทุนการศึกษาเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่งผลให้นักศึกษารุ่นต่อไปไม่สามารถกู้เงินได้ และยังอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมในอนาคต เพราะเมื่อนักศึกษากลุ่มนี้เติบโตไปทำงานในภาคธุรกิจ อาจมีแนวโน้มที่จะคดโกงหน่วยงานของตนเอง การปลูกฝังค่านิยมด้านความซื่อสัตย์และความซื่อตรงในสถานศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสถานศึกษาเป็นสถาบันแรกๆ ที่มีหน้าที่บ่มเพาะความรู้ควบคู่คุณธรรมให้กับเด็กและเยาวชนทุกคนตั้งแต่ยังเล็ก จนกระทั่งเด็กเหล่านั้นเติบโตไปเป็นวัยรุ่น และกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2557 สมศ. จึงได้ร่วมมือกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ร่วมกันวางแผนพัฒนาคุณธรรม และค้นหาวิธีการติดตามประเมินผลด้านคุณธรรมในสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จนเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมในสถานศึกษาทั่วประเทศอย่างสูงสุดภายใต้เป้าหมายในการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และคุณธรรม ซึ่งพร้อมจะเติบโตมาพัฒนาประเทศชาติและสังคมต่อไป
ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึงทิศทางการส่งเสริมคุณธรรมในสถานศึกษาว่า การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมสู่เด็กและเยาวชนถือเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะเยาวชนเหล่านี้คือผู้ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติ อีกทั้งสถาบันการศึกษายังเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย เพราะการศึกษาเริ่มต้นตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบัน ปัญหาหลักที่พบในสถานศึกษาไทย ล้วนเกี่ยวข้องกับคุณธรรมด้านความซื่อตรงและซื่อสัตย์เช่น การลอกข้อสอบ การรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ การกู้ยืมค่าเล่าเรียนแล้วไม่คืนเงิน ดังนั้น ศูนย์คุณธรรมจึงเล็งเห็นว่า ถึงเวลาที่สถาบันการศึกษาทุกแห่ง ควรมีแนวทางในการขับเคลื่อนความซื่อตรงในสถานศึกษาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ค่านิยมด้านความซื่อตรงในทางที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเยาว์ โดยใช้ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 4 รูปแบบ ได้แก่
1.การสร้างวัฒนธรรมด้านความซื่อตรงในสถานศึกษา โดยใช้กิจกรรมต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ รวมถึงการสร้างเครือข่ายชมรมความซื่อตรงสำหรับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถทำหน้าที่ในการอบรมคุณธรรมของบุตรหลานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการอบรมจากในโรงเรียน
2.การคัดเลือกและแก้ไขคุณธรรมความซื่อตรงที่เป็นปัญหาหลักก่อนโดยปัญหาในอันดับแรก ๆ ที่ควรแก้ไข ได้แก่ การกู้ยืมเงินค่าเล่าเรียนแล้วไม่คืน การรับเงินนอกระบบหรือแป๊ะเจี๊ยะ และการลอกข้อสอบของนักเรียน ซึ่งในปีนี้ สิ่งที่เครือข่ายการศึกษาต้องการแก้ปัญหาก่อนเป็นอันดับหนึ่งคือ ประเด็นเรื่องการไม่คืนเงินกู้ยืมค่าเล่าเรียน ซึ่งทางเครือข่ายฯ มีเป้าหมายในการผลักดันการเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมการคืนเงินของนักศึกษา ให้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25
3.การใช้รูปแบบการประเมินผลคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษาแบบ360 องศาโดยเปลี่ยนจากการประเมินคุณธรรมระหว่างครูและนักเรียน เป็นการให้นักเรียนประเมินคุณธรรมของผู้บริหาร นักเรียนประเมินครู ครูประเมินนักเรียน รุ่นน้องประเมินรุ่นพี่ รุ่นพี่ประเมินรุ่นน้อง เป็นต้น
4.การแปลงองค์ความรู้ด้านคุณธรรมไปสู่การปฏิบัติ แทนการท่องจำจากตำราเรียน เนื่องจากสอนให้เด็กรู้จักคุณธรรม มักจะเป็นรูปแบบการสอนผ่านหนังสือเรียน หรือให้เด็กท่องจำ แต่การแปลงคุณธรรมไปสู่การปฏิบัติยังมีน้อย ฉะนั้นจึงควรมีการปรับแนวคิดในการสอนเรื่องคุณธรรมแก่เด็กนักเรียน และควรมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ได้มีการดำเนินโครงการส่งเสริมคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในสถานศึกษาบางแห่ง อาทิ การจัดตั้งโครงการเข้าวัดวันเสาร์ – อาทิตย์ สำหรับนักศึกษาเข้าใหม่ของโรงเรียนนายเรือ โครงการปฏิบัติธรรมในวันพ่อและวันแม่ของโรงเรียนเตรียมทหาร และโครงการบันทึกความดีที่ทำเพื่อคนไข้ของนักเรียนวิทยาลัยพยาบาล เป็นต้น ซึ่งทางศูนย์ฯ มุ่งหวังว่า การสร้างโมเดลขับเคลื่อนคุณธรรมในสถานศึกษา และการริเริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว จะเป็นการเชื่อมประสานให้เยาวชนหันมาใส่ใจกับเรื่องคุณธรรม และจะช่วยสร้างคุณสมบัติด้านคุณธรรมของคนรุ่นใหม่ที่เหมาะสมต่อการเติบโตไปทำงานในองค์กรต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาประเทศชาติและสังคม
สำหรับ ผู้สนใจองค์ความรู้ด้านคุณธรรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 02-644-9900 หรือ www.moralcenter.or.th