กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--แปลน ฟอร์ คิดส์
ครอบครัวคือพื้นที่เล็กๆ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของสังคม ประเทศชาติจะดำเนินไปอย่างเจริญก้าวหน้าได้ย่อมต้องมาจากประชากรที่มีคุณภาพ การสร้าง คน ให้มีประสิทธิภาพเริ่มต้นจากการเรียนรู้ ปลูกฝังค่านิยม จิตสำนึกที่ดี การมีศีลธรรม รู้จักหน้าที่และมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม เหล่านี้ล้วนบ่มเพาะมาจากการเลี้ยงดูภายในครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญ ลูกเป็นความหวังและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ พ่อแม่ทุกคนล้วนรักลูกจนหมดหัวใจ แต่มีบ้างที่อาจจะรักลูกผิดวิธี บางคนคิดว่าต้องเข้มงวด บังคับเคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียนมากๆ โตขึ้นจะได้งานดีๆ บางคนตามใจลูกไปหมดทุกอย่าง
มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ร่วมกับศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด จัดกิจกรรม เปิดห้องนั่งเล่นบ้านตุ๊กติ๊กตุ๊บปอง ครั้งที่ 4 จากโครงการ “คืนพ่อแม่ให้ลูก คืนสุขให้บ้าน” ในตอน “คลินิกสนุกสนาน ฟังนิทานกับป้าหมอ” โดยมี ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีบ กรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และ แพทย์หญิงจิตรา วงศ์บุญสิน กุมารแพทย์ประจำ โรงพยาบาลบางประกอก 1 ซึ่งเป็นคุณแม่ของนายเจนวิทย์ วงศ์บุญสิน (ปิงปอง) เจ้าของเหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิก ปี พ.ศ.2550 ทำคะแนนสูงสุดได้เป็นอับดับที่ 1 ของโลก ได้มาเป็นวิทยากรแนะแนวทางการส่งเสริมและเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ในหัวข้อ “ออกแบบความสุขให้ลูกรัก“ เพื่อชี้แนะการเลี้ยงดูลูกให้มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต
แพทย์หญิงจิตรา วงศ์บุณสิน กล่าวว่า ถ้าเราดูแลลูกอย่างดี ถึงแม้ว่าเขาจะล้มกี่หนเขาจะลุกได้ หากเข้าจำความรักและความสุขที่พ่อแม่มีให้นั้นได้ ทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงลูกให้มีความสุขได้เรื่อยๆ สำหรับเด็กคนนึงเราจะให้เขามีความสุขด้วยและประสบความสำเร็จด้วย มีนักวิจัยชื่อเรนซูรี่ ซึ่งดิดตามเด็กเก่งและประสบความสำเร็จในระยะยาว พบว่า เด็กที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขด้วย มีองค์ประกอบของ ไอคิว 20% อีคิว 20% และทักษะการทำงาน 40%
ไอคิว (IQ) คือ วิชาการต่างๆที่ลูกเราเรียน อาทิ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคม ภาษาไทย เป็นต้น มีส่วนแค่ 20% ต้องสอนเด็กให้รักการอ่าน เพราะเขาจะค้นหาข้อมูลได้ไม่รู้จบ เขาจะสนุกและมีความสุขไปกับการอ่านหนังสือ แล้วเขาจะอ่านได้ด้วยตัวเอง หากว่าลูกรักการอ่านเขาจะเก่งได้ทุกวิชา เรียนพิเศษนั้นคือของปลอม มีคนย่อยให้ฟัง สอบเสร็จ พรุ่งนี้ลืมแล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เขารักการอ่าน สิ่งนี้จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต อีคิว (EQ) คือ การที่คนๆนึง อยู่ไหนใครก็รัก อยู่ไหนใครก็อยากทำงานด้วย ไปไหนใครก็รัก ลองคิดดูสิ ถ้าคนไหนเป็น ศ.ดร. นัดเช้า มาบ่าย ใครก็ส่ายหน้าไม่อยากทำงานด้วยเลย พวกนี้เรียกว่า EQ ไม่ดี หมอจะบอกว่า ต้องสอนให้เขารู้จักมารยาทสังคม เช่น “สวัสดี” “ขอบคุณ” “ขอโทษ” และ ”ให้อภัย” พ่อแม่จะต้องฝึกให้ลูกเห็นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เด็กที่โตขึ้น มีมารยาททางสังคมดี เขาจะปฎิบัติจนเป็นนิสัย อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ทักษะการทำงาน (Work Competency) หมายถึง ต้องมีความอดทด มุมานะ เวลาทำงานแล้วกัดไม่ปล่อย ทำงานต้องทำให้เสร็จ มีวิธีอย่างไรให้ลูกทำงานแบบคาบไม่ปล่อย หมอจะบอกว่า ง่ายมากเลย เช่น อ่านหนังสือต้องอ่านให้จบเล่ม ทำการบ้านต้องทำให้เสร็จแล้วค่อยทำอย่างอื่นต่อ
แพทย์หญิงจิตรากล่าวเสริมว่า เมื่ออยู่กับลูกต้องให้ความสำคัญ หมออยากแนะนำเรื่อง I message, You message, They message เช่น “แกอย่าซนนักเลย” (You message) หรือ” ป้ายังบอกเลยว่าแกซน” (They message) เด็กจะรู้สึกว่าว่าเขา พอคนเราโดนว่า จะเอาตัวรอดด้วยการผลักกลับ หมออยากบอกว่า ให้คิดดีๆก่อนพูด เช่น “แม่ไม่อยากให้หนูซน เพราะว่าแม่รักหนู เดี๋ยวหนูหกล้มเป็นแผลเลือดออก แม่กลัวหนูจะเจ็บ” ให้ใช้ I message ด้วย WHY ซื้อลูกด้วยความรัก เด็กจะซึมซับความรู้สึกนี้ไปตลอด ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะไม่ฟังเราและอะไรที่ไม่ได้เราต้องยืนยันว่าไม่ได้ ลูกเราเป็นของจริงระยะยาว เราจะมาซื้อด้วยความสุขระยะสั้นมันไม่ได้ เพราะเราทำร้ายเขา
การสร้างฐานชีวิตของคน ๆ หนึ่งให้ดีต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ทั้งนี้มาจากความเชื่อที่ว่า เมื่อใดที่เด็กคนหนึ่งแข็งแรงพอที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โตขึ้น ไม่ว่าเขาไปอยู่ทีไหนก็ตาม เขาจะมีพลังก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนอื่น
“ หนังสือ คือ ชีวิต และความสุข ทุกครั้งที่เปิดหนังสืออ่าน คือ เปิดชีวิตที่มีความสุข” เป็นคำกล่าวของ คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและในฐานะนักแต่งนิทาน นักเล่านิทานและนักเขียน ที่ได้กล่าวแสดงความเห็นถึงประโยชน์จากการอ่านหนังสือไว้อย่างน่าสนใจ
คุณเรืองศักดิ์ เล่าว่า ชีวิตเติบโตมากับหนังสือ เพราะอิทธิพลที่ได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว ด้วยนิสัยรักการอ่านของพ่อแม่ การได้ฟังแม่อ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นวนิยาย หรือการเล่านิทานให้ฟังตั้งแต่เด็กๆ เป็นประจำ ก่อให้เกิดจินตนาการไปกับตัวหนังสือที่ไม่รู้จบ เมื่อโตขึ้นยังสนุกไปกับการอ่าน บางครั้งการได้อ่านซ้ำยังช่วยย้อนทวนบางสิ่งที่อาจพลาดไป และทุกครั้งที่ได้อ่านก็จะได้แง่คิดดีๆ ทุกครั้ง การอ่านจึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หรือ อาจพูดได้ว่า การอ่านได้ให้ชีวิตทั้งชีวิต และชีวิตนี้ก็เป็นหนี้ตัวหนังสือ
“การได้ฟังแม่อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ฟังตอนเด็กๆ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก เมื่อได้มาทำงานร่วมกับเด็กๆ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี การได้เป็นผู้อ่านหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง นอกจากเด็กๆ จะมีความสุขแล้ว ตัวเราก็มีความสุขไปด้วย จะเห็นว่า ความสุขนั้นหาได้ไม่ยากเลย เมื่อเราได้เปิดหนังสือ การที่พ่อแม่ออกแบบความสุขให้ลูก และทำให้ลูกมีความสุขระยะยาว คือกุศลที่ยิ่งใหญ่ อย่างน้อยการดูแลลูกอย่างมีทิศทาง ย่อมสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ เราจะได้ตัดวงจรระยะสั้นและหันมาสร้างวงจรความสุขระยะยาวให้เด็กๆกัน เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่และดีที่สุด “
พบกับกิจกรรมสร้างสรรค์ดีๆได้ทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน ณ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาจตุรัสจามจุรีสแควร์ ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.planforkids.com หรือชมภาพกิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/planforkids สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 02-575-2559 ต่อ 506 /503