กรุงเทพ--30 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมฯ
ตามที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asia - Europe Business Forum ครั้งที่ 2 หรือ AEBF II ในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ศกนี้ ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน โดยมีคุณอาสา สารสิน เป็นประธานการประชุมฯ และมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 25 ประเทศ 1 องค์กร ประกอบด้วยประเทศในเอเชีย 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม และประเทศในยุโรป 15 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน และอังกฤษ สำหรับอีกหนึ่งองค์กรคือคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (Europe Commission - EC)
ในฐานะฝ่ายเลขานุการการประชุมฯ สภาอุตสาหกรรมได้เตรียมประเด็นซึ่งประเทศไทยจะพยายามผลักดันให้เกิดจากการประชุมครั้งนี้ แบ่งตามสาขาความร่วมมือได้ดังต่อไปนี้ คือ
1) วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ประเทศไทยจะผลักดันให้เกิดศูนย์วิสาหกิจขนาดเล็กภายใต้การดูแลของสภาอุตสาหกรรมฯ ศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการดำเนินงานของวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของไทยโดยจะดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ คือ ข้อมูล การตลาด การหาแหล่งทุน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังจะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกของเอเชียและยุโรปด้วย
2) สาธารณูปโภคพื้นฐาน (Infrastructure) สำหรับความร่วมมือในสาขานี้ ประเทศไทยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกเข้ามาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในเขตอนุภูมิภาคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตลุ่มน้ำโขง เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจทั้งสามของอาเซียน ได้แก่ เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย และไทย เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย และสิงคโปร์ และเขตเศรษฐกิจบรูไนฯ-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ โดยจะอาศัยผลการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) และธนาคารโลก (World Bank) เป็นข้อมูลเบองต้นในการพิจารณา
3) การค้า (Trade) ประเด็นที่จะหารือจะครอบคลุมมาตรการทางการค้าซึ่งทางภาคเอกชนประสงค์จะให้ภาครัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองภูมิภาค นอกจากนี้ฝ่ายไทยโดยหอการค้าไทย จะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาเอเชีย-ยุโรป (ASEM Study Centre) ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยด้วย
4) การลงทุน (Investment) ประเด็นการหารือจะครอบคลุมเรื่องของการสนับสนุนให้มีความโปร่งใส ของการลงทุนตลอดจนการส่งเสริมการไหลเวียนของข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ยังจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกอาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาบริการด้านการเงินให้สามารถสนับสนุนกิจกรรมเศรษฐกิจระหว่างเอเชียและยุโรป ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
5) การท่องเที่ยว (Tourism) ประเด็นการหารือจะครอบคลุมเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบในเรื่องการท่องเที่ยวของทั้งสอง ฝ่ายความร่วมมือเพื่อที่จะให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ ๆ เช่นการจัดการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ควบคู่กับการจัดการประชุมระหว่างประเทศ ความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น หัตถกรรม การส่งเสริมการพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางด้านการท่องเที่ยว ความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพและยั่งยืน
นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้จะมีการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ หากมีผู้แทนจากประเทศไทยสนใจที่จะพบปะทำความรู้จักกับผู้แทนจากประเทศอื่น ๆ หรือผู้ประกอบการไทย สภาอุตสาหกรรมฯ จะเป็นผู้นัดหมายให้
ผลการประชุม AEBF II จะนำเสนอให้กับการประชุมผู้นำของประเทศสมาชิกเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประมาณต้นเดือนเมษายน ศกหน้า--จบ--