กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--หอการค้าไทย
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้จัดการประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาค และการสัมมนาประธานและเลขาธิการหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ประจำปี 2557 หรือเรียกอีกอย่างว่า Mid -Term Review เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งยังเป็นการสำรวจความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งภาคเอกชนเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะค่อย ๆ คลี่คลายไปตามลำดับในไม่ช้า
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการชะลอตัวลงทุกภาค อยู่ในระดับต่ำถึงปานกลางเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังนี้จะค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่สถานการณ์ของบ้านเมืองว่าจะคลี่คลายได้เร็วแค่ใหน ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดส่วนใหญ่กว่า 76.72% มองว่าเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบัน "ยังแย่" 19.22% เห็นว่าอยู่ในระดับ "ปานกลาง" และมีเพียง 4.06% ที่มองว่า "ดี" ส่วนในครึ่งปีหลัง 46.40% เห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น และ 26.43% เห็นว่าจะแย่ลง
“สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ยังได้รับผลกระทบจากราคาที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าวหากมีการจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใต้โครงการจำนำข้าว ก็จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบที่จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็จะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นโจทย์ในระยะยาวว่าจะทำอย่างไรให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ และจะทำอย่างไรให้ชาวนามีความมั่นคงในอนาคต” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคการค้าชายแดนยังเป็นดาวเด่นในขณะนี้ เนื่องจากไม่มีผลกระทบมากนัก ซึ่งหอการค้าไทยเองมีแผนที่จะขับเคลื่อนภาคการค้าชายแดนอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดงานแสดงสินค้าตามเมืองชายแดน ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามภาคการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นภาคที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจมีแนวโน้มลดลงหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย
นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของภาคตะวันออก ในภาพรวมยังไม่ได้รับผลกระทบในทางลบมากนัก ส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจยังเติบโตได้ในระดับปานกลาง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการบริโภค การท่องเที่ยว การค้า และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการค้าชายแดน ที่ส่วนใหญ่ประมาณ 75% มองว่ามีการขยายตัวอยู่ในระดับดีถึงดีมาก อันเป็นผลมาจากการขยายตัวเพื่อรองรับการเปิด AEC ในอนาคต และมองว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยหอการค้าจังหวัดในภาคตะวันออกคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับดีขึ้นถึง 52.6%
ว่าที่ร้อยเอกจิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า ในครึ่งปีแรก สถานการณ์เศรษฐกิจของภาคกลาง ยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยหอการค้าจังหวัดภาคกลางส่วนใหญ่ยังมองภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของภาคอยู่ในระดับแย่ ทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว ภาคการค้า ภาคการส่งออก การจ้างงาน และ SMEs โดยตอบว่าแย่มากกว่า 50% ของผู้ตอบทั้งหมด ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ นอกจากนั้น ชาวนาก็ยังไม่รับเงินในโครงการจำนำข้าวจากภาครัฐ รวมทั้งค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านการค้าชายแดนยังคงมีสัญญาณที่ดีเมื่อเทียบกับด้านอื่น ๆ
“แม้ว่าการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของภาคกลางในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัจจัยบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจของภาคกลาง คือ ภาคการเกษตรที่ยังคงมีปัญหาในเรื่องระดับราคาสินค้าที่ตกต่ำ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงรอความชัดเจนจากสถานการณ์ทางการเมือง” ว่าที่ร้อยเอกจิตร์ กล่าว
นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ค่อนข้างจะซบเซา เนื่องจากกำลังซื้อได้หดหายไปจากระบบเศรษฐกิจอย่างมาก อันเป็นผลข้างเคียงมาจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และยังพบว่ากลุ่มคนที่มีภาระต้องผ่อนรถยนต์คันแรก มีการลดการบริโภคลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินผ่อนงวดรถ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะส่งผลทำให้กำลังซื้อในระบบลดลง ในขณะที่กำลังซื้อของกลุ่มชาวนาก็มีการหดตัวลงอย่างมาก เนื่องจากยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังได้รับอานิสงส์จากการค้าชายแดนที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจและธุรกิจครึ่งหลังของในปี 2557 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนล้าน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด นอกจากนั้น เชื่อว่าความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองจะทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น และถ้าสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่ได้เร็ว ก็จะทำให้สภาพเศรษฐกิจและธุรกิจในพื้นที่มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น
นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของภาคเหนือในครึ่งปีแรกยังคงมีสัญญาณการชะลอตัว โดยจากผลการสำรวจส่วนใหญ่อยู่ในระดับแย่ถึงร้อยละ 81.4 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยภาคการเกษตร ภาคการค้า และภาคการท่องเที่ยว ชะลอตัวลงมากที่สุด ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม และการค้าชายแดนยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคเหนือได้ในช่วงครึ่งปีแรก นอกจากนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังมีสัญญาณที่ยังไม่ชัดเจนนัก แต่ยังหวังว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ภายใต้เงื่อนไขในเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น
“การค้าชายแดนยังเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคได้ ดังนั้น ควรเร่งพัฒนาและเปิดด่านการค้าต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ นอกจากนั้น ยังต้องปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างเร่งด่วน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในอนาคต” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้ในปัจจุบันมีสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในระดับแย่ถึง 88.9% โดยปัจจัยที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของภาคใต้ปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาคการเกษตร โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติปรับลดลงจากสถานการณ์ทางการเมือง การลงทุนของภาครัฐหยุดชะงัก การลงทุนในพื้นที่ลดลง เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงเพื่มมากขึ้นในธุรกิจ SMEs ที่ธุรกิจในส่วนกลางหันมาลงทุนในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
“เศรษฐกิจของภาคใต้ในครึ่งปีหลัง คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน การบริโภคน่าจะมีการขยายตัวอยู่ในระดับปานกลางถึงดีขึ้น รวมทั้งการท่องเที่ยวที่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น หากสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ควรมีการสร้างเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริมการค้าและการส่งออกให้ดีขึ้น นอกจากนั้น ในส่วนของ SMEs ต้องช่วยในเรื่องต้นทุนค่าแรง และให้มีการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการผลิต เพื่อให้ลดการใช้แรงงานลง” นายวัฒนา กล่าว