กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การใช้ชีวิตของ "เยาวชน" ในยุคสังคมก้มหน้า ก็ยังคงมองหาความสำเร็จในชีวิต แต่ไม่มีอะไรเป็น "สูตรตายตัว" แน่ชัด ที่จะนำมาใช้และทำให้เกิดความสำเร็จในชีวิตได้ในที่สุด วันนี้เรามีแรงบันดาลใจ อีกหนึ่งตัวอย่างที่สามารถนำมาเป็น "ตัวช่วย" ให้ "เยาวชน" มองเห็น "สูตร" สร้างความสำเร็จของอนาคตที่ชัดเจนของผู้ชายที่ชื่อ "โจ้ - ธนา เธียรอัจฉริยะ" กับ "3 วิชา” “ความลำบาก - เปิดรับสิ่งใหม่ – ฝึกทักษะการสื่อสาร” สู่ความสำเร็จ
ใน ค่ายเยาวชน Pladao Fill Up Your Life Summer Camp ครั้งที่ 7 จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลาดาว ในการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) "พี่โจ้ - ธนา เธียรอัจฉริยะ" นักคิด นักการตลาด อดีตผู้บริหาร DTAC ที่ปัจจุบันผันตัวมาอยู่ในบทบาทใหม่ ในฐานะ ผอ.สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มาเปิดเผย 3 วิชาสู่ความสำเร็จให้แก่น้องๆ เยาวชนชาวค่ายอย่างหมดเปลือก แบบไม่มีกั๊ก ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธ.ไทยพาณิชย์ สำนักรัชโยธิน เมื่อเร็วๆนี้
เริ่มจาก วิชาแรก คือ วิชาลำบาก พี่โจ้ให้เหตุผลว่าเพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะการรู้จักการแก้ปัญหา ในทางกลับกัน ความสบายอาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะมันทำให้เราไม่เกิดการเรียนรู้
“บรูซ ลี เป็นสุดยอดของนักกังฟูที่เล่นหนังสมัยก่อน เขาบอกว่าเขาไม่กลัวคนที่เตะได้พันท่า คือท่ายากๆ เขาไม่กลัวหรอก แต่เขากลัวคนที่เตะท่าเดียวพันครั้ง คือซ้อมแม่นมาก คือซ้อม ซ้อม ซ้อม ซ้อมอย่างหนัก คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากๆ เขาจำเป็นต้องผ่านความลำบากมาก่อนเสมอ สิ่งพวกนี้น้องๆ สามารถที่จะฝึกได้ คือฝึกความอดทน ในที่สุดแล้วนี่คือทักษะที่จะเด่นที่สุด ความอึด ความอดทน ความลำบาก ซึ่ง พี่มั่นใจได้เลยว่ามันจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการประสบความสำเร็จของคนยุคนี้ ถ้าเราไม่มีพรสวรรค์อย่างอื่นเลย ความขยันและอดทนคือพรสวรรค์อย่างหนึ่ง” พี่โจ้กล่าว
ส่วน วิชาที่สอง คือ วิชาต่อจุด หรือการหมั่นสะสมประสบการณ์ดีๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเสมอๆ พี่โจ้แนะว่าวันนี้เราอาจมองไม่เห็นประโยชน์ของการทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ลองทำไปก่อน เราก็จะเกิดการเรียนรู้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์แก่เราในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน
“ยกตัวอย่างสตีฟ จ๊อบส์ ตอนที่เขาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาขอพักการเรียนแล้วบังเอิญไปเจอห้องเรียนวิชาประดิษฐ์ตัวอักษร สมัยนั้นจะใช้ปากกาเขียนให้สวยๆ เขารู้สึกชอบมาก ขอเข้าไปเรียน และตั้งใจเรียนมาก ในที่สุดเมื่อเขาผลิตคอมพิวเตอร์ เขาก็นำตัวอักษรที่ประดิษฐ์ไว้มาใช้กับคอมพิวเตอร์ เขาว่าคอมพิวเตอร์นี่มันน่าจะมีฟอนต์นะ เขาก็ทำขึ้นมา ก็มีฟอนต์ New Time ฟอนต์ New Roman เหมือนที่เราใช้วันนี้ ก็เป็นความรู้ที่เขาได้ประดิษฐ์ตัวอักษรเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ตอนที่เขาเรียน เขาไม่มีทางรู้หรอกว่าเขาจะใช้ตอนที่เขาทำคอมพิวเตอร์”
ในข้อนี้ พี่โจ้ยังบอกด้วยว่าในที่สุดแล้ว การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดที่เขาผ่านมายังเป็น “การแป้ก” หรือการที่เราเจอกับความล้มเหลว เราจะเริ่มแป้กได้อย่างไร แป้กบ่อยๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่าเป็น “จุด” ได้เหมือนกัน ซึ่งคนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงล้วนเริ่มต้นมาจากความล้มเหลวมาก่อน
“บางทีตอนที่เราเป็นเด็ก สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะช่วย เห็นอะไรเยอะๆ พอตอนโตไปเราจะได้ใช้มัน ตอนอายุยังน้อย เราเก็บจุดไว้ก่อน ได้ทำอะไรเยอะแยะ เก็บมันไว้แล้วเดี๋ยวมันได้ใช้เอง โดยเฉพาะการแป้กหรือการล้มเหลวมันทำให้เราตกใจ ตกใจแล้วก็มาคิดทบทวน มันจะทำให้เราแก้ไขได้ เมื่อไรที่มีจุดเยอะพอ เราจะรู้เองว่าเราจะเป็นอะไร เราจะทำอะไร เราเก่งอะไร เราถนัดอะไร แล้วเราไม่เหมือนคนอื่นได้อย่างไร”
ขณะที่ วิชาที่สาม คือ วิชาการสื่อสาร เพราะจะเป็นวิชาที่ทำให้เราเป็นที่ยอมรับ และมีโอกาสเติบโตก้าวหน้า
“ในที่สุดแล้วที่พี่โตมาขนาดนี้รู้เลยว่า ไม่ว่าใครจะเก่งแค่ไหน แต่การที่เราสื่อสารได้สำคัญที่สุด เพราะคนที่มีไอเดียดีๆ แต่พูดไม่ได้หรือพูดสื่อสารไม่เป็น ไอเดียนั้นก็หาย บางทีคนที่เขามีไอเดียธรรมดาแต่เล่าเป็นคุ้งเป็นแควได้ จะได้ประโยชน์มากกว่า ได้เปรียบมากกว่า” พี่โจ้แนะ
สุดท้ายนี้ พี่โจ้ยังฝากถึงน้องๆ คนรุ่นใหม่ทุกคนด้วยว่า ให้หมั่นทบทวนความฝันอยู่เสมอๆ ว่าความฝันของเราเปลี่ยนไปแล้วหรือยัง เพราะประสบการณ์ที่มากขึ้นอาจทำให้ความฝันของเราเปลี่ยนไปได้ หากมีความฝันแล้ว ก่อนที่เราจะล้มเลิกมันให้ถามตัวเองก่อนว่าเราได้พยายามกับมันมากพอแล้วหรือยัง ที่สำคัญ หากเราต้องการเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เราจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น ฝึกที่จะเอาชนะตัวเองมากขึ้นๆ ในแต่ละวัน ยกตัวอย่างคลินิกลดน้ำหนักในต่างประเทศพบว่าคนที่อ้วนมากๆ แล้วลดน้ำหนักได้ประสบความสำเร็จอาจไม่ใช่คนที่วิ่งได้มากที่สุดในเช้าวันแรก แต่เป็นคนที่ยังคงลุกขึ้นมาวิ่งตอนเช้าได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน วันนี้อาจวิ่งได้ 100 เมตร แต่วันต่อไปต้องวิ่งให้ได้มากขึ้นๆ
“หัวใจของการประสบความสำเร็จที่แท้แล้วอาจไม่ใช่เรื่องของศักยภาพ แต่คือความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่า” พี่โจ้ ธนา ฝากข้อคิดดีๆ ปิดท้าย