กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--สมาคมอาชีวะเอกชน
ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ ปัญหาบัณฑิตจบใหม่ในปี’ 57 จึงมีอัตราการว่างงานสูงอย่างน่าใจหาย แต่การแข่งขันที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี 2558 ตลาดแรงงานไทยกลับมาแนวโน้มว่าภาวะการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแรงงานพื้นฐานที่ยังคงมีความต้องการสูงในหลายๆ สาขาการผลิต และกลุ่มแรงงานกึ่งทักษะที่มีความรู้ในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี รวมทั้งกลุ่มแรงงานทักษะสาขาวิชาชีพเฉพาะที่น่าจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นสถาบันการศึกษาในหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมที่จะรุกและขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาบุคลการด้านช่างฝีมือด้านการอาชีวศึกษาอย่างยั่งยืน และนับเป็นโอกาสอันดีที่ ดร.นีลส์ ชมิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ แห่งรัฐบาเดน-เวือร์ทเทมแบรก์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักธุรกิจเอกชนเยอรมันพร้อมด้วย มร.วูลฟ์กัง รอยเตอร์ ประธานสมาพันธ์คุณวุฒิวิชาชีพเยอรมนีและผู้เชี่ยวชาญด้านการอาชีวศึกษาและการศึกษาระบบทวิภาคี ได้มาเยือนประเทศไทยเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา “รัฐบาเดน-เวือร์ทเทมแบรก์ ซึ่งเป็นรัฐใหญ่อันดับ 3 และมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างพันธกิจในระยะยาวในประเทศไทย และพร้อมที่จะเพิ่มความร่วมมือทั้งด้านการค้า การลงทุน และการศึกษา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน ...นอกจากนี้เยอรมนียังมีคงวามสนใจในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอาเซียนและเอเชีย ดังนั้นบริษัทรถยนต์เยอรมันให้ความสำคัญและพร้อมที่จะลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งยังสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนโยบายของไทยในการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ ...และที่สำคัญในการเยือนเมืองไทยครั้งนี้ จะมีการลงนามว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคการศึกษาและการฝึกอบรม ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทย และกระทรวงการศึกษา เยาวชน และกีฬา แห่งรัฐบาเดน-เวือร์เทมแบรก์อีกด้วย” ดร.นีลส์ ชมิด กล่าว ในการนี้ รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ แห่งรัฐบาเดน-เวือร์ทเทมแบรก์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดการประชุม ‘คุณภาพและความยั่งยืนของการศึกษาเพื่อการทำงานและการอาชีวศึกษา (Symposium on Quality and Sustainability in work – based and Vocational Education)’ เพื่อการพัฒนาและการอาชีวศึกษาอย่างยั่งยืน ในระบบ ‘ทวิภาคีไทย-เยอรมัน’ โดยมี ดร.ชนีลส์ ชมิด รองนายกรมต.และรมว.กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ รอล์ฟ ชูลเซ่ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัญเยอรมนี เป็นประธาน พร้อมลงนามความร่วมมือด้านการศึกษา ‘ระบบทวิภาคี
ไทย-เยอรมัน’ โดยมี ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ มร.ฮาร์มุท มาเธียส์ รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษา เยาวชน และกีฬา แห่งรัฐบาเดน-เวือร์เทมแบรก์ ร่วมลงนามครั้งนี้ ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย ประสบปัญหาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพด้านกำลังคนเป็นอย่างมาก และเพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการและสถานศึกษาจึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี ซึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนสนองความต้องการของสถานประกอบการ ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาของภาครัฐ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีด้านอาชีวศึกษา และได้จัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคีด้วย “ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมาคมฯ เห็นว่าประเทศที่จัดการอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี และประสบความสำเร็จคือประเทศเยอรมนี และสืบเนื่องจากความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ด้วยวาระ 150 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมันและรัฐบาลไทย โดยรัฐบาลไทยพร้อมด้วยสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลสหพันธ์มาธารณรัฐเยอรมนีไว้แล้ว เมื่อคราวที่นายกรัฐมนตรีและผู้แทนสมาคมฯ ไปเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ...และจากการร่วมมือกันในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะสร้างโมเดลใหม่ในประเทศไทย โดยพัฒนาคุณภาพและศักยภาพ ยกระดับ ‘เด็กอาชีวศึกษา’ สู่ความเป็นเลิศ ระบบทวิภาคีไทย-เยอรมัน คือเรียนไปด้วยและฝึกงานทำงานไปด้วย พร้อมได้ค่าเงินเดือน ค่าตอบแทน แล้วเมื่อจบการศึกษาจะเรียนต่อในระดับสูง หรือเข้าทำงานได้ทันทีด้วยศักยภาพและฝีมืออย่างมืออาชีพที่เป็นที่ต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงาน เรียกว่ายุคนี้เรียนอาชีวะไม่ตกงานแน่” มร.ฮาร์มุท มาเธียส์ รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษา เยาวชน และกีฬา แห่งรัฐบาเดน-เวือร์เทมแบรก์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวว่า รัฐบาเดน-เวือร์เทมแบรก์ มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน เป็น 1 ใน 4 พื้นที่ ที่กำหนดให้เป็น Four Motors for Europe ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านการวิจัยและนวัตกรรม มีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ก้าวหน้าและเป็นสาขาที่ไทยสนใจส่งเสริมความร่วมมือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมและธุรกิจยานยนต์ รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยโดยประยุกต์ใช้การศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Education System) นอกจากนี้สาขาที่น่าสนใจ จะเป็นทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ แมคคาทรอนิคส์ ไฟฟ้า หรือแม้แต่ทางด้านธุรกิจและการจัดการ เป็นต้น โดยจะเน้นการเรียนแบบทวิภาคี อาชีวศึกษามากกว่าเรียนวิชาสามัญธรรมดา ซึ่งใช้เวลาเรียนภาคทฤษฎีในโรงเรียน 30 % อีก 70 % เรียนรู้ในสถานประกอบการหรือบริษัท พร้อมมีเงินเดือนให้ด้วย “จากความร่วมมือครั้งนี้ แสดงเจตนาที่จะร่วมกันในการพัฒนาการอาชีวศึกษาของไทย โดยตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่แน่นแฟ้นยาวนาน ซึ่งการนำระบบการศึกษาทวิภาคีของเยอรมนีถือเป็นรูปแบบการศึกษาอาชีวศึกษาที่มีชื่อเสียงมาใช้พัฒนาการอาชีวศึกษาของไทย เพื่อให้นักเรียนอาชีวศึกษาสำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ และทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยนักเรียนได้เรียนภาคทฤษฎีและการได้ฝึกปฏิบัติในสถานที่ทำงานจริงอย่างสมดุล ...เด็กที่เรียนในโครงการนี้จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติงานได้ โดยในการเรียนการสอน จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของเยอรมัน และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาช่วยฝึกอบรมและสอนให้กับนักศึกษาด้วย ทั้งนี้ สถาน
ประกอบการที่จะได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ อย่างน้อยจะต้องเป็นบริษัทที่มีศูนย์ฝึกอบรม และมีผู้เชี่ยวชาญในการฝึกอบรมตามรูปแบบมาตรฐานอาชีวศึกษาของประเทศเยอรมัน อาทิ บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) บริษัทบ๊อช (Bosch) และบริษัทบีกริม (B.Grimm) โดยจะทำงานร่วมกันในการพัฒนาการศึกษาทวิภาคีของไทยด้วย” มิสอลิซาเบธ โมเซอร์ ผู้อำนวยการและคณะกรรมการบอร์ด State Academy สถาบันบริการด้านการอบรมและการพัฒนาบุคลากรที่กำกับการดูแลโดยรัฐมนตรีการศึกษา เยาวชน และการกีฬา แห่ง รัฐบาเดน-เวือร์เทมแบรก์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวเสริมว่า ขอให้เชื่อมั่นว่า ที่นี่จะดูแลเรื่องระบบการเรียนการสอนเป็นอย่างดี โดยจะเน้นพัฒนาบุคลากรเป็นไปตามความต้องการของทางวิทยาลัยและสถานประกอบการเป็นสำคัญ โดยผู้ที่จะมาให้ทักษะความรู้ต่างๆ ซึ่งจะแบ่งเป็นสายอุตสาหกรรม 29 % สำหรับlkpวิทยาลัยอาชีวะ 49 % ส่วนสายอื่นๆ จะมีมืออาชีพที่เชี่ยวชาญมาช่วยอบรมตามสาขาต่างๆ “ที่สำคัญ อยากให้คนรุ่นใหม่ยุคนี้ ต้องก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ เมื่อโลกเปลี่ยนเราต้องปรับเปลี่ยนก้าวไปให้ทันโลกด้วย”
เทรนด์ใหม่ของการศึกษายุคนี้ คือระบบทวิภาคี ที่เรียนรู้จริง ทำจริง ปฏิบัติจริง...สู่โลกอนาคตที่สดใส