กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ประจำปี 2557 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร. 12) เตือนย้ำถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ที่ส่งผลทำลายอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย พร้อมร่วมรณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลในการเพิ่มภาษียาสูบ แก้ปัญหาการสูบบุหรี่ของประเทศ
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า บุหรี่มีสารประกอบต่างๆอยู่ประมาณ 4,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งไม่น้อยกว่า 42 ชนิด ผู้สูบจะได้รับผลเสีย เริ่มตั้งแต่การมีผมขาวก่อนวัยอันควร เกิดการอักเสบของหูชั้นกลาง เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมือ ขาและเท้าน้อย ทำให้มือและเท้าเย็น เป็นโรคผิวหนัง ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง เกิดมะเร็งโพรงจมูก มะเร็งช่องปาก ลำคอ กล่องเสียง กระดูกพรุน แตกร้าวง่าย โรคหลอดเลือดในสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เส้นเลือดตีบและอุดตัน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และไต เป็นหมัน หมดสมรรถภาพทางเพศ มะเร็งปากมดลูก โอกาสมีบุตรต่ำ รวมถึงมีโอกาสแท้งบุตรสูงขึ้น ซึ่งการสูบบุหรี่นอกจากจะมีผลต่อผู้สูบโดยตรงแล้ว ยังทำให้ผู้อื่นที่สูดเอาควันบุหรี่เข้าไปเกิดอันตรายเช่นเดียวกันด้วย
ด้วยอันตรายและพิษภัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้บุหรี่คร่าชีวิตคนไทยไปปีละกว่า 40,000 ราย รัฐบาลต้องเสียงบประมาณเป็นค่ารักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่มากมาย การรณรงค์ให้ประชาชนงดสูบบุหรี่จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นอย่างมากมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งคือการร่วมรณรงค์ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก คือวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งในปี 2557 นี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้รัฐบาลเพิ่มภาษียาสูบในระดับที่สามารถลดปริมาณการบริโภคยาสูบได้ โดยมีคำขวัญรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2557 ว่า “Raise taxes on tobacco” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขใช้ภาษาไทยว่า “บุหรี่ ภาษียิ่งเพิ่ม คนตายยิ่งลด ” สคร. 12 สงขลาในฐานะหน่วยงานด้านการป้องกันควบคุมโรคในเขต 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จึงต้องการสื่อสารไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่และประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทย ด้วยการเพิ่มภาษียาสูบของรัฐบาล เพื่อให้อัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากการสูบบุหรี่และรับเอาควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายลดน้อยลงตามไปด้วย
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานในทุกภาคส่วน ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องโทษ ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันรณรงค์ให้กลุ่มเด็กและเยาวชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ นำไปสู่การเกิดจิตสำนึกที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
โทรศัพท์ 0-7433-6079-81 ต่อ 29
อีเมล phannaphat.p@gmail.com