กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับในคนไทยและประชากรทั่วโลก ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะมีประวัติการติดเชื้อจากทางเลือด ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเลือดจากการเสียเลือด หรือตกเลือดจากการคลอดบุตร
ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 2 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้เนื่องจากไม่แสดงอาการชัดเจน ส่วนใหญ่จะพบเมื่อมีการตรวจสุขภาพ หรือบริจาคเลือดแล้วพบว่าการทำงานของตับผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคนี้เมื่อมีอาการเรื้อรังของโรคตับ เช่น ตับแข็ง ตาเหลือง ตัวเหลือง ขาบวม ผู้ป่วยบางคนอาจทราบเมื่อป่วยเป็นมะเร็งที่ลุกลามแล้ว ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ สามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคนี้ได้ในเบื้องต้น โดยการตรวจเลือดเพื่อหาสารบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับไวรัส และทำการตรวจยืนยันอีกครั้งว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาฉีดและยากิน ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง และอาจมีผลข้างเคียงในการรักษา" ศ.นพ.พิสิฐกล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ 3 และมีความรุนแรงของอาการที่ตับตามเกณฑ์ที่กำหนดสามารถเข้ารับการรักษาได้ในระบบประกันสุขภาพ โดยใช้สิทธิบัตร 30 บาทและบัตรประกันสังคม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเป็นโอกาสที่ดีมาก ดังนั้นผู้ป่วยรวมทั้งผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้จึงควรเข้ารับการตรวจหาสายพันธุ์ไวรัส เพื่อเป็นประโยชน์ในการหาช่องทางรักษา
และในวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2557 เวลา 12.30 - 15.00 น ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์จะมีการจัดประชุมเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี หรือ ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าฟังการบรรยายได้ (ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) ณ ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนัง อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 9
และหลังจากฟังบรรยายแล้วสามารถลงทะเบียนเพื่อเจาะสายพันธุ์ไวรัสตับอักเสบซี(ฟรี) ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ
สามารถโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์ 02-2564946 คุณมุก(พยาบาล)