กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยความสำเร็จวิจัยและพัฒนา “ เครื่องพ่นละอองยาอัลทราโซนิกส์ ” เครื่องแรกของประเทศไทย ระบุมีประสิทธิภาพในการพ่นละอองยาให้มีขนาดประมาณ 5 ไมครอน ตัวเครื่องเล็ก พกพาสะดวก ไม่มีเสียงดังเวลาใช้งาน ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ 100%
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ วว. ซึ่งประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาหัวเพียโซอิเล็กทริกเซรามิก ที่มีประสิทธิภาพในการให้กำเนิดคลื่นอัลทราโซนิกส์ และนำมาประยุกต์ใช้งานสู่การวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีชื่อว่า “ เครื่องพ่นละอองยาอัลทราโซนิกส์ ( Ultrasonic Nebulizer ) ” ได้สำเร็จเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยีนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.) หัวเพียโซอิเล็กทริกเซรามิก ให้กำเนิดคลื่นอัลทราโซนิกส์ 2.) วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.) ภาชนะสำหรับใส่ยา
“ จากการที่ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ วว. สามารถผลิตหัวเพียโซอิเล็กทริกได้เอง โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งตัวเครื่องยังมีขนาดเล็ก สะดวกในการพกพา และไม่มีเสียงดังในเวลาใช้งาน วว. เชื่อมั่นว่าผลงานวิจัยและพัฒนานี้จะสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มตลาดเป้าหมาย อันได้แก่ โรงพยาบาลต่างๆ หรือบริษัทที่จำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ป่วยโรคหอบหืด ได้อย่างมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ และหากได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจะช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางเทคโนโลยี เนื่องจากในปัจจุบันนี้ประเทศไทยต้องนำเข้าเครื่องพ่นละอองยาอัลทราโซนิกส์จากต่างประเทศ 100% และมีราคาประมาณ 20,000 บาทต่อเครื่อง ” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้อำนวยการ ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ วว. กล่าวถึงหลักการทำงานของ เครื่องพ่นละอองยาอัลทราโซนิกส์ว่า เริ่มต้นจากหัวเพียโซอิเล็กทริกซึ่งเป็นสารทรานสดิวเซอร์เมื่อได้รับกระแสไฟฟ้า จะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกลในรูปของคลื่นอัลทราโซนิกส์ความถี่ประมาณ 2 MHz. ซึ่งเป็นคลื่นเหนือเสียง ส่งผ่านน้ำและภาชนะบรรจุยาซึ่งเป็นพลาสติกที่มีความบางมาก ผ่านไปยังตัวยาซึ่งเป็นของเหลว โดยความถี่ดังกล่าวจะทำให้โมเลกุลของยาเกิดการสั่นสะเทือนและเคลื่อนที่ด้วยความเร่งมากกว่าแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้อนุภาคของยาหลุดออกจากผิวหน้า เกิดเป็นละอองยาขนาดประมาณ 5 ไมครอน ลอยไปในอากาศได้ ซึ่งละอองยาขนาด 5 ไมครอน จะสามารถซึมผ่านเข้าไปถึงปอดส่วนบนของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.สุเมธ ภูมิอภิรดี นักวิชาการ ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ วว. กล่าวเพิ่มเติมในฐานะนักวิจัยโครงการว่า องค์การอนามัยโลกได้ระบุในปัจจุบันทั่วโลกมีคนป่วยเป็นโรคหืดประมาณ 150 ล้านคน และในทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 180,000 คน ซึ่งคนที่มีอายุเกิน 65 ปี และเด็กอายุ 9-14 ปี มีโอกาสเป็นโรคหืดมากที่สุด ซึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดนั้น จะใช้ยาจำนวน 2 กลุ่มด้วยกันคือ ยาแก้การอักเสบของทางเดินหายใจและยาขยายหลอดลม โดยการรักษาด้วยยาขยายหลอดลมนั้นอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ควบคู่กัน เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือเครื่องพ่นละอองยา จากความสำเร็จของ วว. ในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดได้รับปริมาณยาอย่างสม่ำเสมอ และตรงจุดของการรักษาคือปอดส่วนบน ซึ่งจะทำให้สุขภาพของผู้ป่วยดีขึ้น อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา เนื่องจากเครื่องพ่นละอองยาอัลทราโซนิกส์ของ วว. จะมีราคาต่ำกว่าเครื่องนำเข้าประมาณ 60% ทั้งนี้ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจทั่วไปสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าว ได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุ วว. โทรศัพท์. 0 2579 1121-30 , 0 2579 5515 โทรสาร. 0 2579 7728 ในวันเวลาราชการ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--