กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
‘บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยื่นแบบคำขอและไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 169,182,500 หุ้น ก่อนเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายชัยภัทร ศรีวิสารวาจา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 169,182,500 หุ้น หรือ คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญ ที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน
ปัจจุบัน บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียนจำนวน 676,750,000 ล้านบาท โดยทุนที่ออกจำหน่ายและชำระแล้ว มีจำนวน 507,567,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 507,567,500 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ทั้งนี้ บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำเพื่อส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย เช่น กากอ้อย และกากหม้อกรองไปต่อยอดทางธุรกิจอย่างครบวงจร ผ่านการดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อย 5 บริษัท ได้แก่ บริษัทโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด บริษัทบุรีรัมย์พลังงาน จำกัด บริษัทปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด บริษัทบุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าแห่งใหม่
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. เคที ซีมิโก้ กล่าวด้วยว่า สำหรับเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งบริษัทฯ จะนำเงินไปลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทราย และลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่เหลือจะนำเงินไปชำระเงินกู้เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทฯ
ด้านนายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 50 ปี โดยดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปต่อยอดทางธุรกิจอย่างครบวงจร เช่น การนำกากอ้อยไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวล และผลิตจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ภายใต้แบรนด์ ปุ๋ยตรากุญแจ
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายมุ่งพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในธุรกิจน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูการผลิตปีปัจจุบันโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ หีบอ้อยรวม 1.76 ล้านตัน และสามารถรองรับปริมาณอ้อยเข้าหีบได้วันละ 14,000 ตัน เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทราย ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยังสามารถนำกากอ้อยที่ถือเป็นผลผลิตพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นจำนวน 8 เมกะวัตต์ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บุรีรัมย์ พลังงาน จำกัด นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย ขณะที่กากหม้อกรองที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายก็ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูกอ้อย โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 30,000 ตันต่อปี ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัทปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด อีกด้วย
“เรามีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากว่า 50 ปี ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทรายรายของภูมิภาคนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นการพัฒนาสายการผลิตต่างๆ ให้มีความแข็งแกร่งอย่างครบวงจร โดยเฉพาะปรัชญาการทำงานของเราที่เชื่อว่า ‘น้ำตาลสร้างในไร่’ ทำให้เราเน้นส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย การคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ การคัดเลือกชนิดปุ๋ยที่เหมาะกับพื้นที่ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการแปลงอ้อย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของเราเพิ่มจาก 105 กิโลกรมต่อตันอ้อยเมื่อฤดูการผลิตปีที่แล้ว เป็น 118 กิโลกรัมต่อตันในปีนี้ นับเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ นอกเหนือจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องต่างๆ เราเชื่อว่า การสร้างความคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและการสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างยั่งยืน” นายอนันต์ กล่าว