กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตการเมือง จึงเร่งบูรณาการแผนฟื้นฟูธุรกิจ พร้อมโชว์มาตรการ 3 ระยะ ได้แก่ โครงการระยะเร่งด่วน โครงการระยะสั้น และโครงการระยะยาว ผ่านการส่งเสริมผู้ประกอบการภายใต้โครงการต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิ โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) โครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์เป็นการสร้างความร่วมมือบนพื้นฐานของการแข่งขัน โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสมาชิกในกลุ่มคลัสเตอร์ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองความต้องการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพและโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่น ฯลฯ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึงร้อยละ 0.6 ส่งผลให้อัตราการผลิตเฉลี่ยลดลงประมาณร้อยละ 61.8 ต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส ทำให้แนวโน้มที่ผู้ประกอบการหลายรายจะปรับลดพนักงานลงเพื่อรักษาเสถียรภาพของการประกอบการทำให้เกิดผู้ว่างงานในไตรมาสแรกนี้เฉลี่ย 344,430 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกระแสว่าได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มดังกล่าว กสอ. ได้จัดทีมคณะทำงานดูแลให้คำปรึกษา ตลอดจนเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอย่างใกล้ชิด ดังตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์ ที่เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันมีการร่วมกลุ่มแล้ว 58 คลัสเตอร์ และเฉพาะในปี 2556 สมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์สามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นกว่าปีก่อนถึงกว่า 5,000 ล้านบาท และมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาธุรกิจของ กสอ. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4546 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ทำให้อุตสาหกรรมของไทยมีการชะลอการขยายตัว ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยและมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าไทย เช่น จีน อินเดีย และบางประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้
ภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึงร้อยละ 0.6 ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 61.8 ต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส เป็นผลให้ประชาชนระมัดระวังในจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงทำให้การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของครัวเรือนลดลงร้อยละ 3 ส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงาน โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2557 อัตราการจ้างงานในภาคการผลิต มีจำนวน 6.59 ล้านคน ลดลงร้อยละ 2.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกระแสว่าได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศติด 1 ใน 10 ของประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปถึงการจ้างงาน การลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งออก ดังมีรายละเอียดตอไปนี้
- อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากจำนวนการผลิตที่ลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2555 เนื่องจากนโยบายคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันแรกทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการต้องเพิ่มกำลังผลิต ทั้งเครื่องจักรและแรงงาน แต่เมื่อนโยบายนี้สิ้นสุดลง ยอดการสั่งซื้อและผลิตก็ลดลงกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องแบกรับภาระค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรและค่าจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับวิกฤตการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดภายในประเทศที่ชะลอตัว โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า ภาคการผลิตชะลอตัวร้อยละ 30 ส่วนภาคการขายลดลง ร้อยละ 45 ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้กว่า 2,400 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 1,641 ราย มีแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ยานยนต์รวมทั้งหมดกว่า 500,000 คน อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกยังเป็นไปด้วยดี สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศในช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. จำนวน 201,773.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 9.3 (ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, 2556) ถึงแม้การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มสูงขึ้น แต่การผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศกลับลดลง เนื่องจากความสามารถในการบริโภคภายในประเทศหดตัวลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องสู่ความเสี่ยงในการปลดพนักงาน
- อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมกลุ่มนี้มีสถานประกอบการกว่า 2,050 ราย มีแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 600,000 ราย มีผู้ประกอบการ SMEs 1,735 ราย และมีแรงงานของ SMEs 209,173 ราย โดยอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มการชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วจากนโยบายภาครัฐ และภาระค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ สถานการณ์การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.12 ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.75 (ที่มา: รายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2557, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ในภาพรวมถึงแม้มีสินค้าบางประเภทที่ภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เช่น สายไฟฟ้าและ เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากการขยายตัวของโครงการบ้านและคอนโดมิเนียมในประเทศและการส่งออกไปตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรป แต่สินค้าบางรายการปรับตัวลดลงอย่างมาก เช่น พัดลม ตู้เย็น และหม้อหุงข้าว เป็นต้น
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการตั้งเวทีชุมนุมปิดแยกสำคัญในย่านธุรกิจการค้า ทำให้ผู้บริโภคเบื่อหน่ายในการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะไม่อาจคาดเดาได้ว่าภาวะทางเศรษฐกิจที่ซบเซาจะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อใด ส่งผลให้ยอดขายภาคการค้าติดลบกว่าร้อยละ 60 อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย หดตัวลดลงร้อยละ 1.11 มูลค่าการส่งออกไตรมาสแรกปี 2557 มีมูลค่า 57,114.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอมีมูลค่าการส่งออก 34,932.35 ล้านบาท หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.30 แต่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 22,181.74 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.83 เป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (ที่มา : สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ) โดยในอุตสาหกรรมนี้มีจำนวนแรงงานทั้งหมดประมาณ 1,000,000 คน อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาทางการเมือง ที่ส่งผลต่อมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้แล้ว ยังมีปัญหาบางประการที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเต็มที่ เช่น ขาดการวิจัยและพัฒนาคุณภาพเส้นใย ขาดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน ต้นทุนการผลิตและส่งออกสูงขึ้น อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงกว่าประเทศใกล้เคียง ขาดตราสินค้าที่เป็นที่รู้จัก และพึ่งพิงการส่งออกหลักไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปมากเกินไป เป็นต้น
ดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2557 ที่ได้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ กสอ. ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งหมด 11 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมกว่า 3,600 กิจการ มีบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ กว่า 28,350 คน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการ และโครงการต่างๆ ที่รองรับและให้การสนับสนุนในการปรับตัวในภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น อาทิ โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อเข้าสู่ AEC โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคอุตสาหกรรม และโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว เป็นต้น
ทั้งนี้ กสอ. มีการดำเนินงาน 3 กลุ่มโครงการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤต ได้แก่
1. โครงการระยะเร่งด่วน ดำเนินการได้ทันที
- โครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย โดยในระยะเร่งด่วน สำหรับผู้ประกอบการที่ขอรับบริการสินเชื่อตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – 30 ธันวาคม 2557 วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษเพียงร้อยละ 5 ต่อปี เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกประเภท ด้วยงบประมาณรวมกว่า 250 ล้านบาท ภายใน 1 ปีแรก หลังจากนั้นคิดอัตราปกติร้อยละ 6 ต่อปี สำหรับการผู้ขอรับบริการตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยปกติร้อยละ 6 ต่อปี โดยผู้ประกอบการที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนบริหารเงินทุน สำนักบริหารกลาง โทรศัพท์ 0 2202 4409-10 อีเมลcredit@dip.go.th
- โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC โดยจะเชื่อมโยงธุรกิจและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตระหว่างไทยและประเทศเป้าหมาย จำนวน 10 ประเทศ อาทิ กัมพูชา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน 2557 กำหนดการพาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์อาหารของไทยเดินทางไปแลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมโยงธุรกิจ ณ ประเทศญี่ปุ่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ : 0 2 697 6348, 0 2697 6353 หรือ 099 047 2470
2. โครงการระยะสั้น ดำเนินการได้ ภายใน 1-3 เดือน
- โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการผลิตเพื่อการลดต้นทุน เพื่อส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้จะได้รับความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการบริหารธุรกิจ และสามารถบริหารกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเปิดรับสมัครการฝึกอบรมเป็นระยะๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ โทรศัพท์ : 0-2202-4597 และ 0-2354-3230
- โครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ในอุตสาหกรรมสนับสนุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความรู้ ทักษะ และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ โดยตั้งแต่ปี 2553 – 2557 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 385 ราย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน โทรศัพท์ : 0 2367 8169
3. โครงการระยะยาว ดำเนินการได้ ภายใน 6-12 เดือน
- โครงการเพิ่มผลิตภาพอย่างมีนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพทางด้านประสิทธิภาพการผลิต และระบบเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมการผลิตในระดับสากล โดยทั่วไปหลักสูตรมีระยะเวลาการดำเนินการ 9 เดือน ครอบคลุมในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ และการพัฒนาการวางแผนและจัดการเทคโนโลยีการผลิตอย่างมีนวัตกรรม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ โทรศัพท์ : 02 354 3231, 02 202 4597, 02 202 4578-9
- โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) เพื่อพัฒนา SMEs ให้มีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพมากขึ้น และปรับปรุงศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ให้สามารถทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 1 ปี ซึ่งโครงการฯนี้ได้ดำเนินมาแล้ว 16 ปี มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 740 ราย สามารถเพิ่มมูลค่าการผลิตได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม โทรศัพท์ : 0-2202-4546, 0-2202-4536
สำหรับโครงการที่คาดว่าน่าจะเหมาะสมในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤตซึ่งเห็นผลระยะยาวอย่างเห็นได้ชัด คือ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือ บนพื้นฐานของการแข่งขัน โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพโดยรวมของคลัสเตอร์นั้น ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบสนองความต้องการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลที่ได้จากการดำเนินโครงการในปี 2555 สมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์ได้รับการยกระดับการดำเนินธุรกิจจนสามารถเพิ่มยอดขายได้กว่า 5,000 ล้านบาท และมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบ 5,000 ล้านบาท จากสมาชิกกลุ่มจำนวน 58 คลัสเตอร์ / 1,160 วิสาหกิจ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ การดำเนินงานคลัสเตอร์ประสบผลสำเร็จและจำเป็นต้องมี คือ คลัสเตอร์ที่รวมตัวกันนั้นควรมีศักยภาพที่พร้อมในการพัฒนาและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่ม ผู้ประสานงาน และที่ปรึกษาคลัสเตอร์ ต้องมีความเข้มแข็งจึงจะมีบทบาทในการพัฒนาคลัสเตอร์ได้ และที่สำคัญคือต้องมีความไว้วางใจและเชื่อมั่นระหว่างสมาชิกในกลุ่ม
ด้านนายประเสริฐ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญ ทูลส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายสำคัญของประเทศ กล่าวว่า ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์เข้าสู่สภาวะหดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะกำลังซื้อภายในประเทศที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่อนข้างรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากมองในภาพรวมของอุตสาหกรรม ยอดขายรถยนต์ลดลงกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลต่อเนื่องสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีการปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อ SMEs โดยตรง ผู้ประกอบการ SMEs รายหลายมีมาตรการเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น การลดต้นทุนการผลิต ลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อดึงงานบางส่วนไปผลิตเอง ไม่ต้องจ้าง Supplier สำหรับบริษัท แสงเจริญ ทูลส์ เซ็นเตอร์ มีพนักงานทั้งหมด 300 คน ซึ่งในแต่ละปีบริษัทมีคำสั่งซื้อเฉลี่ยประมาณ 500 ล้านบาท โดยยอดการผลิตของบริษัทลดลงกว่าร้อยละ 20-30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ยอดการผลิตจะลดลง แต่บริษัทแสงเจริญไม่มีนโยบายปรับลดพนักงาน โดยจะเน้นไปที่การเพิ่มทักษะและพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น รวมถึงมุ่งเน้นการทำ R & D มากขึ้น ในด้านกำลังการผลิตจะผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้นไม่มีการผลิตเพื่อเก็บเป็นสต็อกไว้ และไม่มีการทำงานล่วงเวลาของพนักงาน ทำให้รายได้ของพนักงานลดลงจึงต้องประหยัดมากขึ้น
นายประเสริฐ กล่าวเกี่ยวกับการร่วมโครงการกับ กสอ. ว่า สำหรับโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์ ซึ่ง กสอ. เล็งเห็นประโยชน์และความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้ได้เรียนรู้ถึงแนวทางในการปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและบริหารจัดการ โดยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรอุตสาหกรรม ซึ่งจุดเด่นของโครงการนี้คือสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อการเข้าร่วมโครงการสิ้นสุดลง แต่ยังสามารถการนำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจได้ต่อเนื่อง โดย บริษัทแสงเจริญเป็นผู้นำกลุ่ม มีสมาชิกทั้งหมด 20 บริษัท มีชื่อกลุ่มว่า TTCC Cluster มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เข้าร่วมการจัดอบรมและสัมมนา งานอบรมเชิงปฏิบัติการ (Jishuken and Dojo) ศึกษาดูงานนอกสถานที่ เป็นต้น ประโยชน์ที่ได้รับ คือ มุ่งเน้นการพัฒนาบุคคลากร โดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมทั้งในภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ สามารถนำความรู้กลับไปพัฒนาบริษัทของตัวเอง ให้มีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มมีนโยบายในการรับมือในภาวะวิกฤต ดังนี้
1. มีกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน โดยนำระบบ TPS (Toyota Production System) ซึ่งเป็นระบบของโตโยต้าเข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต
2. ฝึกอบรมเพิ่มทักษะพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการผลิตด้วย
3. ทำ KAIZEN* (ไคเซ็น คือ แนวคิดที่นำมาใช้ในการบริหารการจัดการการอย่างมีประสิทธิผล โดยมุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคน ร่วมกันแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้นอยู่เสมอ หัวใจสำคัญอยู่ที่ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด) ปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยใช้จำนวนคนเท่าเดิม แต่ใช้เวลาการผลิตต่อหน่วยลดลง และได้จำนวนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เช่น แต่เดิมเครื่องปั้มชิ้นงานโลหะขนาด 300 – 600 ตัน สามารถผลิตได้ 23 ชิ้นต่อนาที แต่เมื่อปรับกระบวนการการผลิตแล้วสามารถผลิตได้ 36-40 ชิ้นต่อนาที เป็นต้น
4. ทำความเข้าใจกับพนักงานให้เข้าใจถึงสถานการณ์ ต้องให้พนักงานอยู่ได้ เพราะถ้าพนักงานอยู่ได้บริษัทก็อยู่ได้
5. หลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และสะสมทุนรองรับการหดตัว
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่หก กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2202-4546 หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th
สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4532, 0 2354 3456 / ข้อมูล
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4414 – 18 / เผยแพร่