กรุงเทพ--21 ม.ค.--จุฬาฯ
เมื่อปลายเดือนธันวาคม ณ ห้องประชุม 2 ตึก 50 ปี คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดสัมมนาเรื่อง "โรคไข้หวัดใหญ่ในนก...มหันตภัยตัวใหม่" โดยมี รศ.สพ.ญ. ดร.อัจฉริยา ไศละสูต รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนา วิทยากรประกอบด้วย น.สพ.สุวิชา คูประดินันท์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ไทย-นีโอ ไบโอเทค จำกัด, รศ.น.สพ. ดร.จิโรจ ศศิปรียาจันทร์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ และ ผศ.น.สพ. ดร.คณิศักดิ์ อรวีระกุล หัวหน้าหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ สรุปสาระสำคัญได้ว่า การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในนก ซึ่งติดต่อสู่คนในประเทศฮ่องกงในช่วงปลายปี 2540 เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด H5 N1 ซึ่งพบเฉพาะในนก สมมุติฐานของการระบาดติดต่อสู่คนในครั้งนี้อาจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของเชื้อไวรัส ทำให้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยบังเอิญ สำหรับประเทศไทยมีการระบาดของไวรัสชนิดนี้ในสัตว์ปีก โดยกรมปศุสัตว์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจเฝ้าระวังโรคในไก่และเป็ดอยู่เป็นระยะๆ ทั้งนี้โรคที่เป็นปัญหาในบ้านเราคือ โรคนิวคาสเซิล และโรคต่อมเบอร์ซ่าอักเสบหรือกัมโบโร ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่ผู้บริโภค นอกจากนี้ประเทศไทยมีภูมิอากาศร้อน ซึ่งไม่เอื้อต่อการระบาดของเชื้อ ซึ่งปัจจัยการระบาดของโรคนี้ได้แก่ ตลาดไก่ โรงฆ่าไก่ การเคลื่อนย้ายสัตว์ ความแออัดของการจัดฟาร์มที่ไม่เหมาะสม และอากาศที่ค่อนข้างเย็น อย่างไรก็ตามแม้อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ แต่ก็ควรเฝ้าระวังสำรวจโรคในนก ไก่ และเป็ด เป็นระยะๆ รวมทั้งควรเข้มงวดในเรื่องการนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่ ซึ่งมีเชื้อไวรัสชนิดนี้ ควรทำให้สุกก่อนนำมาปรุงอาหารรับประทาน
สำหรับผู้สนใจที่ต้องการทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในนก สามารถค้นคว้าข้อมูลที่ต้องการได้ทางอินเตอร์เน็ต ที่ http://www.geocities.com/HotSprings/2188/h 5n1.html-- จบ--