กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--IR network
บอร์ด บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ไฟเขียวซื้อหุ้น บจ.พัฒนาพลังงานลม (WED) จากบริษัท อิมแพค เอนเนอยี่ เอเชีย ลิมิเต็ด (IEA) เพิ่มอีก 31,563,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนชำระแล้ว 105,210,000 หุ้น ราคารวม 373,721,100 บาท หนุนให้ GUNKUL ถือหุ้น 100% ดังนั้น พร้อมลุยพลังงานลม 60 เมกะวัตต์เต็มสูบ คาดก่อสร้างและจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้เดือนธันวาคม 2558 มั่นใจการถือหุ้นหนุนรายได้กระฉูด
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 4/2557 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท ซื้อหุ้นสามัญของบริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด (WED) จาก บริษัท อิมแพค เอนเนอยี่ เอเชีย ลิมิเต็ด (IEA) เพิ่มอีกจำนวน 31,563,000 หุ้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมด 105,210,000 หุ้น ในราคารวม 373,721,100 บาท จึงมีผลทำให้ GUNKUL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน WED เพิ่มเป็น 100% จากเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้น จำนวน 5,460,000 หุ้น คิดเป็น 70%
"คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ประเมินแล้วมีความเห็นว่าการได้มาของหุ้น WED มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อ GUNKUL ในการพัฒนากิจการโรงไฟฟ้ากังหันลม และสามารถรับรู้กำไรจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าฯ รวมถึงผลตอบแทนจากโครงการตามสัดส่วนการถือหุ้น 100% โดยส่งเสริมให้บริษัทมีอัตราการเติบโตทั้งทรัพย์สินและผลกำไรอย่างต่อเนื่องในอนาคต และที่สำคัญทำให้บริษัทก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำ และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดที่ครบวงจร จึงเห็นชอบให้มีการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในสัดส่วนดังกล่าว "นายสมบูรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ WED ประกอบธุรกิจพัฒนาและทำกิจการโรงไฟฟ้า เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานลมให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 1 สัญญา กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ โดยได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.50 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี และจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานลมให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จำนวน 2 สัญญา กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์และ 2 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.50 บาท รวมทั้งสิ้น 60 เมกะวัตต์
สำหรับสัญญาซื้อขายระหว่าง WED กับ กฟผ. และ กฟภ.ตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ประเมินศักยภาพของพื้นที่ในการจัดทำโครงการดังกล่าวแล้วว่าสามารถประกอบกิจการโรงไฟฟ้ากังหันลมเชิงพาณิชย์ได้ โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันลม พร้อมสายส่งและสถานีย่อยไฟฟ้าแล้วเสร็จ และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 4/2558 ซึ่งถือว่าบริษัทฯ มีบทบาทเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทนทั้งในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐที่สนับสนุนให้มีการจัดหาพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อความยั่งยืนและเสถียรภาพในการใช้พลังงานต่อไป