กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
- เป็นรายงานฉบับที่ 2 ที่ระบุถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ในอนาคต
- เสนอแนะแนวทางการพัฒนาธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการลอจิสติกส์
ดีเอชแอล ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ชั้นนำของโลก ได้จัดพิมพ์รายงานผลการศึกษาเทรนด์ลอจิสติกส์ (Logistics Trend Radar) ฉบับที่ 2 ที่อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่เพิ่มขึ้นในรูปแบบการนำเสนอที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดที่ต่อยอด
จากรายงานฉบับแรก ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญๆ ได้แก่ การนำเสนอการพัฒนาเทรนด์ของปี 2556การแนะนำเทรนด์ใหม่ประจำปี 2557 เพื่อให้ได้ภาพรวมของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ที่สมบูรณ์และครบถ้วน ทิศทางของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์พร้อมด้วยความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการพัฒนาโซลูชั่นสำหรับการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ การค้าปลีกผ่านหลากหลายช่องทางหรือการคาดการณ์การซื้อ เป็นต้น
แมทไทเออร์ ฮอยต์เกอร์ รองประธานอาวุโสด้านกลยุทธ์การตลาดและการพัฒนา DHL Customers Solutions & Innovation กล่าวว่า "อุตสาหกรรมลอจิสติกส์มีการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ดีเอชแอลจึงมีความพร้อมในการนำประสบการณ์การดำเนินงานและการให้บริการแก่ลูกค้าในอุตสาหกรรมทุกประเภทจากทุกภูมิภาคทั่วโลกมาใช้
ในการวิจัยดังกล่าว สำหรับเทรนด์ลอจิสติกส์ที่ดีเอชแอลจัดทำขึ้นในครั้งนี้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนดีเอชแอลและบริษัทอื่นๆ ให้มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีที่นำสมัยเพื่อรองรับธุรกิจลอจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง"
สำหรับเทรนด์ลอจิสติกส์ใหม่ที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าว มีดังนี้
- เทรนด์การทำลอจิสติกส์ผ่านหลากหลายช่องทาง (Omni-Channel Logistics) คือ
การจัดการลอจิสติกส์ผ่านช่องทางแบบปกติผสานกับแบบออนไลน์ โดยใช้โซเชียลมีเดียผนวกกับอุปกรณ์โมบายล์และใช้ระบบ eTags ตรวจสอบและแท็กข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ
- เทรนด์การจัดการลอจิสติกส์ผ่านการคาดการณ์ (Anticipatory Logistics) คือการวิเคราะห์ข้อมูลระดับบิ๊กดาต้าทั้งทางด้านการค้นหาผลิตภัณฑ์ของลูกค้า รายละเอียดการเลือกซื้อสินค้า รายการสินค้าที่ต้องการ รวมถึงการติดตามข้อมูลบนหน้าจอ ส่งผลให้
การส่งสินค้าสามารถทำได้ก่อนลูกค้ายื่นคำขอรับบริการอย่างเป็นทางการ
- เทรนด์การชำระเงินแบบใช้รหัส (Crypto Payment) คือ ระบบการชำระเงินแบบสากลที่ใช้ได้ทั่วโลก โดยสามารถชำระหนี้ด้วยเงินข้ามสกุลได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาที รองรับการชำระค่าบริการทุกประเภท (ทั้งระบบสะสมไมล์ การชำระค่าโทรระบบมือถือตามระยะเวลาที่ใช้งาน และอื่นๆ) ทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการจัดทำระบบการชำระค่าบริการในรูปแบบใหม่ๆ อาทิ การใช้ระบบการชำระเงินแบบไมโครเพย์เมนต์ (Micro Payment) เป็นต้น
รายงานการศึกษาเทรนด์ลอจิสติกส์ชุดใหม่นี้มีการนำเสนอในรูปแบบที่ล้ำสมัย โดยมีการจำแนกรายละเอียดของแต่ละเทรนด์ พร้อมด้วยภาพรวมทั้งหมดทางด้านอุปสรรคและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และข้อเสนอแนะวิธีจัดการความท้าทายเพื่อประโยชน์ของบริษัทและลูกค้ารายย่อย
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังเป็นการวิเคราะห์ภาพรวมอย่างรอบด้านแบบ 360° ของอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ทั้งหมด ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยเทรนด์ของดีเอชแอลจะร่วมมือกับลูกค้า สถาบันวิจัยชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม นำผลการศึกษาครั้งนี้ไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการศึกษาต่อยอดเทรนด์เฉพาะด้านในเชิงลึกต่อไป
มาร์คุส คุคเคลเฮ้าส์ ผู้อำนวยการ Trend Research ของ DHL Customer Solutions & Innovation กล่าวปิดท้ายว่า "เรานำความรู้ความชำนาญมาบูรณาการกับข้อมูลที่ได้รับจากพันธมิตรนักวิชาการและพันธมิตรรายอื่นๆ เทรนด์ลอจิสติกส์ที่เราได้จัดทำขึ้นดังกล่าวจึงถือเป็นก้าวแรกสำหรับผู้ให้บริการลอจิสติกส์ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจของตนให้พร้อมรองรับความท้าทายต่างๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต"
รายงานการศึกษาเทรนด์ลอจิสติกส์ปี 2014 ดังกล่าวเป็นการปูพื้นฐานในการสร้างประสบการณ์ตรงที่เกิดจากการปฏิบัติงานของศูนย์นวัตกรรม ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอลในเมืองทรัวส์ดอร์ฟประเทศเยอรมนี และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต้นแบบและนวัตกรรมนำร่องอื่นๆ ในอนาคต โดยเปิดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.dhl.com/trendradar