มูลนิธิเอสซีจี เปิดประสบการณ์เด็กช่าง เตรียมความพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าความรู้

ข่าวทั่วไป Tuesday June 3, 2014 13:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--Mix and Match Communications หนทางสู่ความสำเร็จมักมีหลายเส้นทางให้เลือกเดิน เช่นเดียวกับเคล็ดลับและสูตรสำเร็จที่ล้วนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับจุดเด่น จุดด้อย โอกาส และอุปสรรคของแต่ละคน ดังนั้นการมอบโอกาสที่ดีให้กับเยาวชนไม่ว่าจะอยู่ในสาขาใดจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของ มูลนิธิเอสซีจี ด้วยความเชื่อที่ว่าประเทศชาติจะเดินหน้าพัฒนาสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ ย่อมเกิดจากฟันเฟืองที่แข็งแรง ซึ่งทุกสาขาอาชีพล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะนำพาประเทศชาติให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต และหนึ่งในสาขาอาชีพที่สำคัญของโลกในศตวรรษที่ 21 ก็คือ “เด็กช่าง” นั้นเอง โครงการเด็กช่าง สร้างชาติ ที่มูลนิธิเอสซีจี เดินหน้าสู่ปีที่ 2 จึงถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระตุ้นให้แต่ละภาคส่วนได้กลับมามองถึงความสำคัญของ “เด็กช่าง” กันมากขึ้น ซึ่งนอกจากมอบโอกาสให้ เด็กช่างผ่านทุนการศึกษาแล้ว การพัฒนาศักยภาพเด็กช่างผ่านบทเรียนนอกห้องเรียนก็ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญ กับกิจกรรมล่าสุด ที่มูลนิธิเอสซีจีจัดขึ้นนั่นคือค่ายเด็กช่าง สร้างชาติ ที่จัดอบรมให้กับนักเรียนทุนเด็กช่าง สร้างชาติ ปี 1 โดยคัดเลือกเด็กช่างกว่า 52 ชีวิต จาก 20 สถาบันทั่วประเทศ เข้าค่ายการเรียนรู้ในหัวข้อ “การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตามทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ปัญญา (Constructionism)” ที่อัดแน่นด้วยกิจกรรมซึ่งมากด้วยสาระประโยชน์ ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฎิบัติโดยมุ่งเน้นที่กระบวนการคิดและการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดระยะเวลา 20 วัน อาทิ การฝึกภาษาอังกฤษสำหรับช่าง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรุ่นพี่เด็กช่างที่ประสบความสำเร็จ การเยี่ยมชมกระบวนการผลิตกระดาษในโรงงานเอสซีจีเปเปอร์ และกิจกรรมจิตอาสา โดยการร่วมพัฒนา ทำนุบำรุงวัดในละแวกใกล้เคียง ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้นอกจากจะเสริมสร้างให้เป็น “คนเก่ง” แล้วยังสอดแทรกกิจกรรมให้ทุกคนได้ร่วมกันคิด และลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ชุมชน ซึ่งเสริมสร้างให้เป็น “คนดี” อีกด้วย สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า สิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้นก็คือ การมุ่งเน้นที่กระบวนการเรียนรู้มากกว่าความรู้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่การรอรับความรู้จากครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่จะต้องเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้เพื่อพัฒนาและฝึกฝนตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 ได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน แต่แม้จะมีเครื่องจักรมาช่วยผ่อนแรง แต่ “ช่าง” ที่เก่งจะต้องสามารถควบคุมเทคโนโลยีนั้น ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาวะแวดล้อม นำความรู้มาสร้างให้เกิดประโยชน์ให้กับองค์กร รู้จักแก้และวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มีความรู้และทักษะในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ “น้องๆ คือคนของศตวรรษที่ 21 อนาคตที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยี โลกที่ไม่มีพรมแดนอีกต่อไป ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้ทันโลกอยู่เสมอ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้เต็มที่ เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กช่างรุ่นน้อง ร่วมกันสร้างทัศนคติและภาพลักษณ์ที่ดีของนักศึกษาอาชีวะ โดยในที่สุดแล้วก็จะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการเป็น ‘เด็กช่าง’ ที่จะช่วยสร้างชาติต่อไป” แน่นอนว่าตลอดระยะเวลา 20 วัน ของการเข้าค่ายในครั้งนี้ สร้างความประทับใจและมอบประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย ซึ่งเราได้ไปตามติดชีวิตเด็กช่างในค่ายแห่งนี้ พร้อมการบอกเล่าประสบการณ์ดีๆ ที่พวกเขาได้รับกัน เริ่มกันที่หนุ่มผิวเข้ม ดีกรีประธานค่ายเด็กช่าง สร้างชาติ รุ่น 1 อย่าง ฟลุ๊ค นายสราวุฒิ พรมคล้าย ศึกษาอยู่ชั้น ปวช.2 วิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง ได้มาร่วมเล่าถึงประสบการณ์สุดประทับใจ และสิ่งที่ได้รับจากการมาเข้าค่ายครั้งนี้ว่า “การมาเข้าค่ายในครั้งนี้ พวกเราได้ร่วมกิจกรรมมากมายที่สามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งในห้องเรียนและในชีวิตประจำวัน เช่น การร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความสามัคคีในการทำงานเป็นทีม รวมไปถึงการร่วมกันซ่อมแซมวัด โดยอาศัยทักษะช่างที่เราเรียนมาทำประโยชน์ให้สังคม และนอกเหนือสิ่งอื่นใด คือ การได้รู้จักสนิทสนมผูกพันกับเพื่อนๆ ซึ่งถึงแม้แต่ละคนจะมาจากต่างสถาบัน แต่เราก็สามารถอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกันได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่ผมได้รับเลือกให้เป็นประธานค่าย ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเพื่อนๆ และทำกิจกรรมหลายอย่าง ทำให้ผมได้เรียนรู้การแบ่งหน้าที่ การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ทุกๆ อย่างในค่ายสอนให้พวกเรารู้จักการทำงานเป็นทีมพร้อมๆ กับการเรียนรู้ทฤษฎีและการลงมือปฎิบัติจริง ทำให้พวกเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปิดโลกให้กว้างขึ้น ซึ่งพวกเราต่างตั้งใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด สำหรับผมแล้ว มูลนิธิเอสซีจีให้ผมมากกว่าคำว่าประสบการณ์ เป็นเหมือนครอบครัวเด็กช่าง และพวกเราสัญญาว่าจะนำทุกความรู้ที่ได้ครั้งนี้ไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองและเป็นตัวอย่างที่ดีของน้องๆ เด็กช่างต่อไปครับ” ฟลุ๊ค กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ เมื่อพูดถึงเด็กช่างใช่ว่าจะมีแต่หนุ่มๆ เท่านั้น สาวๆ ก็สามารถเรียนรู้วิชาชีพช่างนี้ได้ดีไม่แพ้หนุ่มช่างเช่นกัน อย่างเช่น น้องนุ้ย นางสาววาสนา เศรษฐีพ่อค้า ศึกษาอยู่ชั้น ปวช.2 วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี สาขาสถาปัตยกรรม ที่ได้มาร่วมบอกเล่าเรื่องราวที่ได้รับจากค่ายแห่งการเรียนรู้นี้ว่า “การมาเข้าค่ายกับเพื่อนๆ ในครั้งนี้ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปิดรับความรู้ใหม่ๆ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมาย ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต อุปสรรคในการทำงาน และหนทางที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในอนาคต สิ่งที่หนูชอบมากคือการได้เข้าไปดูโรงงานผลิตกระดาษของเอสซีจีเปเปอร์ ทำให้ได้เรียนรู้ขั้นตอนการผลิต ที่มาที่ไปของการทำกระดาษ และพวกเราได้นำประสบการณ์จากการดูงานมาร่วมกันต่อเลโก้โรงงานกระดาษเอสซีจีที่สามารถเคลื่อนไหวได้เสมือนจริง พวกเราภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้มากค่ะ เพราะเกิดจากการ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกคน ทำให้ต่อเสร็จได้ภายในครึ่งวันเท่านั้น และที่สำคัญเราได้ทำกิจกรรมจิตอาสา ได้ทำงานเป็นทีม สิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมทุกๆ กิจกรรมก็คือความสามัคคี และการเรียนรู้ที่ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่อยู่รอบๆ ตัวเรานี่เองค่ะ” น้องนุ้ย กล่าวทิ้งท้าย ปิดท้ายกันที่กลุ่มสาวๆ จากจังหวัดลำปางกลุ่มนี้ นำทีมโดย น้องตันหยง นางสาวอารียา อุ่นเรือน ศึกษาอยู่ชั้นปวช.2 วิทยาลัยเทคนิคลำปาง สาขาช่างอิเล็คทรอนิกส์ ก็ได้เล่าถึงความภูมิใจที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของเด็กช่าง สร้างชาติ ให้ฟังว่า “ถึงจะเป็นผู้หญิง แต่พวกเราก็มีใจรัก และสนุกสนานกับการเรียนช่างไม่แพ้ผู้ชาย จะได้เปรียบกว่าด้วยซ้ำตรงที่ผู้หญิงมีความละเอียดอ่อนและอดทนมากกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในค่ายแห่งการเรียนรู้นี้ เพราะนอกจากจะได้พบได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ แล้ว พวกเรายังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมาย ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ควบคู่กับการเรียนในห้องเรียน และนำไปเผยแพร่ให้กับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรม นอกจากนั้นความรู้และวิธีคิดเหล่านี้ยังจะติดตัวเราไปตลอด สามารถนำไปใช้ได้ในการทำงานจริง ที่สำคัญคือเราต้องไม่หยุดเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาตัวเองต่อไป เพียงแค่เรามีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่น หนูมั่นใจว่าอนาคตในการเป็นช่างมืออาชีพจะสดใส ไม่แพ้วิชาชีพไหนๆ แน่นอนค่ะ” น้องตันหยง กล่าวอย่างมั่นใจ ไม่มีใครกรุยทางให้เราเดิน.....ความสำเร็จเป็นสิ่งที่ทุกคนกำหนดและทำเองได้ ไม่ได้วัดกันเพียงแค่ใครจะเรียนสายสามัญหรือสายอาชีพ เพราะคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตก็คือคนที่รู้จักตัวเองก่อนว่าถนัดอะไร ยิ่งค้นพบตัวเองได้เร็ว ก็จะกำหนดเป้าหมายที่จะเดินต่อไปให้ถึงจุดหมายได้เร็ว ความรู้ ความถนัด ความมุ่งมั่น และการลงมือทำ จะนำพาชีวิตไปสู่เส้นชัยได้ โดยไม่ต้องแข่งกับคนอื่น เพียงแค่เราแข่งกับตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน ความสำเร็จย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ