ไทย-สหรัฐ ร่วมมือต่อยอดศึกษาวิจัยผลิตวัคซีนเอดส์ในเชิงอุตสาหกรรม หลังประสบความสำเร็จสามารถผลิตวัคซีนป้องกันเอดส์ได้เป็นรายแรกของโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday June 3, 2014 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--โฟร์ พี แอดส์ กรมควบคุมโรคเผยไทยและสหรัฐฯได้ร่วมมือกันวิจัยพัฒนาวัคซีนเอดส์มาเป็นเวลากว่า 20 ปี จนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกพบว่าวัคซีนสามารถลดการติดเชื้อเอดส์ได้ถึง 31% เตรียมขยายและพัฒนาความร่วมมือในการวิจัยให้ต่อเนื่อง ให้วัคซีนมีศักยภาพลดการติดเชื้อได้มากกว่า 50% เพื่อประสิทธิภาพในการป้องโรคและการนำวัคซีนไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งการต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวหลังพิธีลงนามในข้อตกลงทำงานร่วมกันกับกองบัญชาการวิจัยทางการแพทย์และเวชยุทโธปกรณ์กองทัพบกประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากโครงการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ในประเทศไทยที่ประกาศผลไปเมื่อปี 2552 ว่าโครงการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ในประเทศไทยเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน สำหรับประเทศไทยคือกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคและมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอนาคตอาจขยายความร่วมมือจากอีกหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญคือกองบัญชาการวิจัยทางการแพทย์และเวชยุทโธปกรณ์กองทัพบกประเทศ สหรัฐอเมริกา โดยโครงการนี้ได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกที่พบว่าวัคซีนนี้สามารถลดการติดเชื้อ เอดส์ได้ถึง 31% เป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องจากหลายหน่วยงานทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตามการผลิตวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ได้ 31% นี้ เป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้นยังไม่ถึงขั้นดีมาก ยังผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและนำไปใช้ไม่ได้ ยังอยู่ในขั้นเตรียมการเพราะการผลิตวัคซีนไม่เหมือนการผลิตยาตัวอื่นๆ ซึ่งการผลิตวัคซีนมีเรื่องของกระบวนการรับรองมาตรฐานและเรื่องของความ ปลอดภัยสูง ในทางทฤษฎีวัคซีนต้องสามารถลดการติดเชื้อได้มากกว่า 50% จึงจะถือว่ามีศักยภาพในการผลิต เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการป้องกันโรคได้จริง ดังนั้นจึงต้องมีการร่วมมือกันตั้งแต่การพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและ เตรียมการผลิตในภาคเอกชนด้วย เพราะหากไม่เตรียมการตั้งแต่ต้น อาจจะมีบริษัทเอกชนอื่นๆจากต่างประเทศเข้ามาร่วมมือและทำให้ประเทศไทยเสีย โอกาสทั้งที่เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการวิจัยพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้น นพ.โอภาส กล่าวต่ออีกว่าในการพัฒนาวัคซีนเอดส์นั้นต้องดูหลายขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องการวิจัยว่า กระบวนการผลิตวัคซีนขั้นใดที่จะทำให้มีประสิทธิภาพของวัคซีนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการทดลองวัคซีนทั้งในห้องปฏิบัติและการทดสอบภาคสนามอย่างต่อเนื่อง กัน ซึ่งต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนานและเป็นเชิงวิทยาศาสตร์ที่ต้องค่อยๆดำเนินการ ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ที่ผลิตได้ในครั้งนี้ ได้ผ่านการทดลองในภาคสนามในคนถึง 16,000 คน จนได้ผลในเชิงป้องกันการติดเชื้อเอดส์ได้ถึง 31% แต่ก็ยังเป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น จึงต้องมีการวิจัยพัฒนาเพื่อปรับการปรุงการผลิตวัคซีนให้มีประสิทธิภาพในการ สร้างภูมิคุ้มกันโรคได้สูงสุดต่อไป โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการเพื่อขยายและพัฒนาความร่วมมือใน การวิจัยให้ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จโดยแยกเป็น 2 ส่วนหลักๆคือพัฒนาวัคซีนต่อยอดให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการป้องกันใน เรื่องเชื้อโรคเอดส์ที่ดีขึ้นและดึงหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนิน การด้วยตั้งแต่ระยะต้นโดยเฉพาะด้านกลไกกระบวนการผลิตวัคซีน เพราะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหากรอวัคซีนประสบความสำเร็จ 100% อาจช้าเกินไป สรุปก็คือต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้ง 2 เรื่อง ทั้งพัฒนาการผลิตวัคซีนให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและพัฒนาต่อยอดในเชิง อุตสาหกรรม เพราะนอกจากการวิจัยแล้วต้องคำนึงถึงการผลิตวัคซีนที่เต็มรูปแบบ เพื่อนำมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมกับคนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพราะโรคเอดส์เป็นโรคติดเชื้อที่สำคัญและมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก หากไทยสามารถผลิตวัคซีนเอดส์ได้ก็เป็นประโยชน์ทั้งการป้องกันในประเทศและทั่วโลกได้ “นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับด้วย คือในอนาคตประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนไว้ใช้ได้เองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการ นำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพของภาคเอกชนไทยในเรื่องการผลิตวัคซีน เพราะวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรคต่างๆ หากอนาคตประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เอง อาจจะต่อยอดไปผลิตวัคซีนตัวอื่นที่จำเป็นใช้ได้ ไม่เฉพาะแค่วัคซีนป้องกันโรคเอดส์อย่างเดียว แต่สามารถขยายผลไปสู่การผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆที่จำเป็นได้ด้วย อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคมือเท้าปาก หรือโรคอื่นๆ เป็นต้น” นพ.โอภาส กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ