กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร. ) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ชี้ อานิสงส์จากมาตรการทางเศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้าไปในขณะนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวได้ร้อยละ 2.0-2.5 โดยเป็นผลมาจากแรงส่งของการบริโภคที่น่าจะฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการเร่งจ่ายเงินโครงการจำนำข้าวให้แก่ชาวนา เป็นเงิน 9.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน และการลงทุนที่จะได้รับแรงเสริมจากมาตรการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 ที่พร้อมอนุมัติ 7,000 ล้านบาท และเร่งจัดทำงบประมาณประจำปี 2558 ให้เสร็จก่อนเดือนกันยายนนี้ รวมทั้งการเริ่มกระบวนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะ ประธาน กกร. กกร. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมสนับสนุนการเร่งรัดการฟื้นฟูพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าไป จึงได้ประชุมหารือกันโดยต่อเนื่องเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการสำคัญ 3 ด้าน ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอี และ การเรียกความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย กลับคืนมา ดังนี้
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
1) เร่งรัดการออกพระราชกฤษฎีกาขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดา ออกไปปี 2 ปี ซึ่ง กกร. ได้จัดทำข้อเสนอไปยังรักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา (เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2557) ซึ่งขณะนี้ กระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร) อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
2) เร่งรัดทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เพื่อพิจารณาวาระสำคัญในการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่รอการพิจารณาประมาณ 400 โครงการ วงเงินทุนรวมกว่า 660,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีการรัฐประหาร ดังนั้น จึงควรเร่งรัดทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ด้วยมีโครงการยื่นขอ BOI ค้างอยู่กว่า 700,000 ล้านบาท)
3) เร่งการเจรจาเขตการค้าเสรี เพื่อกระตุ้นกิจกรรมภาคการส่งออก โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) รวมทั้ง การเริ่มเจรจา FTA กับประเทศที่มีศักยภาพสำหรับการส่งออกและการลงทุนของไทย เช่น ปากีสถาน เป็นต้น
4) การจัดตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (หรือ กรอ.) เพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
มาตรการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี
กกร. เห็นถึงความสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้กระทรวงการคลังและธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ กกร. เล็งเห็นว่า การปล่อยสินเชื่อให้ได้ถึงผู้ประกอบการได้เร็วที่สุด คือการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ ในช่วงสภาวะที่เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนซึ่งรัฐบาลรักษาการมีปัญหาการจัดสรรงบประมาณ สมาคมธนาคารไทยและกระทรวงการคลัง ได้ร่วมมือกัน จัดหาสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อเข้าร่วมค้ำประกันสินเชื่อกับ บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) ให้สามารถเพิ่มระดับการค้ำประกันจากเดิมค้ำประกันความสูญเสียจากโครงการ บสย. ที่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 50
และเนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐบาลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่แล้วและไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ กกร. จึงเห็นควรให้มีการเสนอต่อ คสช. เป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นให้แก่บสย.โดยตรง เพื่อเพิ่มระดับการค้ำประกันความสูญเสียจากระดับสูงสุด ร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 50 เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเร่งรัดบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
เร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย
นอกจากนี้ กกร. ยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยการดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อเร่งฟื้นฟูและสร้างความ เชื่อมั่นกลับคืนมา ซึ่งภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้เองผ่านทางคู่ค้าในประเทศต่างๆ นอกจากนี้ภาคเอกชน (กกร./สภาหอการค้าฯ/สภาอุตสาหกรรมฯ) จะนำคณะภาคเอกชนไทย เดินทางเยือนประเทศต่างๆ เพื่อร่วมประชุมและเจรจาธุรกิจ การค้าการลงทุน ตลอดจน เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การค้า และการลงทุน รวมทั้ง เพื่อชี้แจงสถานการณ์และการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย เช่น เวทีการประชุม Asian Business Summit (ABS) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน 2557 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีนักธุรกิจชั้นนำ จาก 11 ประเทศในเอเชียเข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน การนำคณะภาคเอกชนไทยเยือนประเทศต่างๆ เช่น ปากีสถาน เวียดนาม เป็นต้น
อนึ่ง กกร. ยังได้สรุปภาพรวมภาวะตลาดเงินตลาดทุนจนถึงสิ้นเดือนที่ หลังจากคณะรักษาความสงบ แห่งชาติได้เข้าดำเนินการยุติความขัดแย้งทางการเมืองและหาทางออกเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ว่า การดำเนินการดังกล่าว ผลกระทบต่อตลาดการเงินคือค่าเงินบาทอ่อนค่าลงทันทีร้อยละ 0.6 จาก 32.4 บาทต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 32.6 บาทต่อดอลลาร์ แต่จบวันอ่อนตัวลงเพียงร้อยละ 0.4 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดตลาดร่วงลงทันที 27.5 จุด แต่ปรับดีขึ้นระหว่างวันมาปิดที่ 1,396.84 จุด หรือลบร้อยละ 0.6 จากวันก่อนหน้า ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก ซึ่งดีกว่าการรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งเงินบาทอ่อนลงร้อยละ 1.3 และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลง ร้อยละ 1.3 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดพบว่า ปฎิกิริยาจากตลาดหุ้นไทยเป็นบวก โดย ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปิดที่ 1,415.73 จุด สูงกว่าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ก่อนเกิดการรัฐประหาร ซึ่งตลาดปิดที่ 1402.92 จุด และสูงกว่าวันที่ 19 พฤษภาคม ก่อนวันประกาศกฎอัยการศึกซึ่งตลาดฯปิดที่ 1410.63 จุด