กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) รายงานความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ขนาดกำลังการผลิต 122 เมกะวัตต์ ดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (NNEG) ในวันนี้ว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา NNEG ประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้มูลค่า 4,770 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อร่วมระหว่างธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย มีระยะเวลา 20.5 ปี สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้านวนคร กำหนดจะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2559
นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้า นวนคร เป็นโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่น มีมูลค่าโครงการประมาณ 6,360 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินทุนของผู้ถือหุ้น จำนวน 1,590 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนของบริษัทฯ จำนวน 636 ล้านบาท และการจัดหาเงินกู้อีกจำนวน 4,770 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาและก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งนี้ การประสบความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะขับเคลื่อนโครงการให้เดินหน้าจนสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเสริมระบบความมั่นคงของประเทศได้ภายในเดือนมิถุนายน 2559
“การพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้านวนคร อยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อมเพื่อการก่อสร้างโครงการหลังจากที่รายงานการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการได้ผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่มีนัยสำคัญของการพัฒนาโครงการมาก ขณะนี้โครงการฯ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเครื่องจักรและอุปกรณ์หลักของโรงไฟฟ้าขั้นสุดท้าย และจะเริ่มเบิกเงินกู้งวดแรกในเดือนมิถุนายน ศกนี้ เพื่อเริ่มงานก่อสร้างโครงการในไตรมาส 3 บริษัทฯ มั่นใจว่าโครงการผลิตไฟฟ้านวนครจะดำเนินการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับ กฟผ. และสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ นับตั้งแต่กลางปี 2559 เป็นต้นไป” นายพงษ์ดิษฐ กล่าวปิดท้าย
โครงการผลิตไฟฟ้านวนครโคเจนเนอเรชั่น ดำเนินการโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง 3 ฝ่าย คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 40 บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นฝ่ายละร้อยละ 30 โครงการดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม นวนคร จังหวัดปทุมธานี จะผลิตไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จำหน่ายให้แก่ กฟผ. 90 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี ส่วนอีก 32 เมกะวัตต์ จะผลิตและจำหน่ายแก่โรงงานอุตสาหกรรมภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร เช่นเดียวกับไอน้ำ ซึ่งมีกำลังผลิต 15 ตันต่อชั่วโมง โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษี จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เป็นระยะเวลา 8 ปี
ปัจจุบัน บริษัทฯ มีกำลังผลิตติดตั้งทั้งที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ รวม 6,543 เมกะวัตต์ จากการลงทุนในโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งตามโครงสร้างธุรกิจใหม่ คือ โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในประเทศขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กำลังผลิตติดตั้งรวม 4,834.05 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานทดแทนในประเทศ กำลังผลิตรวม 102.45 เมกะวัตต์ และโครงการในต่างประเทศ กำลังผลิตรวม 1,606.02 เมกะวัตต์