กรุงเทพ--20 ม.ค.--สำนักงานเขตกรุงเทพ
ที่บริเวณวงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์ วันที่ 18 ม.ค. 41 เวลา 14.00 น. นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีประธานกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ป้องกันอุบัติภัยในกรุงเทพมหานคร โดยมีคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ สองจันทึก ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สมาชิกสภาเขตสัมพันธวงศ์ ตลอดจนพ่อค้าประชาชน หน่วยอาสาสมัครต่างๆ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือ ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) กรุงเทพมหานคร กองบังคับการตำรวจดับเพลิง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึก และพฤติกรรมที่เหมาะสมแก่ประชาชนในการลดอุบัติภัย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการป้องกันอุบัติภัย ตลอดจนเป็นโครงการนำร่องในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันอัคคีภัยโดยการจัดงานครั้งนี้เป็นการรณรงค์ครั้งยิ่งใหญ่ มีการซักซ้อมการประสานงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอุบัติภัย ซึ่งจะใช้เป็นแบบอย่างสำหรับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนรู้สึกชื่นชมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการป้องกันอุบัติภัย ทั้งภาครัฐ เอกชน ที่ได้ร่วมกันจัดงานรณรงค์ดังกล่าวช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเลือกพื้นที่ย่านถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ เป็นจุดดำเนินการรณรงค์ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเขตชุมชนด้านพาณิชยกรรมที่สำคัญ และมีปัญหาอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่เสมอ สำหรับการจัดกิจกรรมเน้นรณรงค์ให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่และประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการป้องกันอุบัติภัย อันเกิดจากไฟฟ้า และแก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอัคคีภัย โดยการจัดสัมมนา จัดนิทรรศการ การสาธิตการป้องกันอัคคีภัย รวมทั้งการเดินรณรงค์ป้องกันอุบัติภัยด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและเกิดความร่วมมือร่วมใจ ในการป้องกันและแก้ไขอย่างพร้อมเพรียงยิ่งขึ้น
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การรณรงค์ป้องกันอุบัติภัยเป็นก้าวหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนได้มีการตื่นตัว ระมัดระวัง เอาใจใส่ดูแลช่วยกันป้องกันอัคคีภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีนและฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง และการจัดงานในวันนี้ยังมีการซักซ้อมความพร้อมเพรียงการประสานแผนงานระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ราชการ หน่วยอาสาสมัครต่าง ๆ และประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายมีหน้าที่อะไรบ้างในการสนับสนุนการป้องกันและระงับอุบัติภัย ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้เตรียมที่จะเปิดศูนย์ป้องกันอุบัติภัยอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า ศูนย์ฯ ดังกล่าว เป็นศูนย์ที่มีความทันสมัยทั้งระบบสื่อสาร โทรคมนาคม ระบบที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลพื้นฐานในการดับเพลิง และมีแผนผังอาคารขนาดใหญ่ทุกแห่งในกรุงเทพมหานครที่พร้อมจะส่งสัญญาณภาพไปยังรถโมบายที่จะใช้เป็นศูนย์บัญชาการเคลื่อนที่ภาคสนาม อย่างไรก็ดีเนื่องจากงบประมาณเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่กรุงเทพมหานครขอรัฐบาลไป กว่า 300 ล้านบาท ถูกตัด กทม.จึงต้องอาศัยเครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากประชาชน เจ้าของอาคาร ที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงปี 2535 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ปี 2537 ที่กำหนดให้อาคารสูงทุกแห่งต้องมีระบบเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัยให้พร้อม เช่น ท่อดับเพลิง สัญญาณเตือนไฟ สปริงเกิล เป็นต้น นอกจากนี้ กทม.กำลังเร่งศึกษาการนำเข้าจากโครงการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งแยกตะกอนออกไปแล้ว มาช่วยในการป้องกันและระงับอัคคีภัยช่วงฤดูแล้งด้วย--จบ--