กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายกสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย และสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดโครงการแข่งขันกอล์ฟการกุศล ชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอังคารที่ 3 มิถุนายน 57 ณ สนามกอล์ฟ เพร็สซิเด็นท คันทรีคลับ กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งการแข่งขันเป็น 2 ประเภท คือ. ประเภททีม VIP จำนวน 5 คน ทีมละ 50,000 บาท และประเภททีมทั่วไป จำนวน 5 คน ทีมละ 30,000 บาท
สำหรับโครงการแข่งขันกอล์ฟการกุศลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีคุณูปการต่องานการแพทย์และสาธารณสุขตลอดมา และที่สำคัญเพื่อหารายได้ส่งเสริม และสนับสนุน การดำเนินกิจการของสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลประเทศไทย สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และจัดซื้อเครื่องกระตุกหัวใจ (Automated External Defibrillator: AED) และอุปกรณ์ช่วยชีวิตกรณีเจ็บป่วยกะทันหันให้มูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
ด้านนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่จะช่วยสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน และเครื่องกระตุกหัวใจ (Automated External Defibrillator: AED) ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินมีอาการโรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งหากผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีและทันกาลก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มช่องทางการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยในต่างประเทศจะมีเครื่องนี้ติดไว้ในที่สาธารณะ แต่สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มมีการนำร่องติดไว้ในหลายพื้นที่แล้ว อาทิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สภากาชาดไทย และในอนาคตหากมีการติดเครื่องกระตุกหัวใจไว้ในหลายพื้นที่ก็จะเพิ่มโอกาสการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับเครื่อง automated external defibrillator, AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติเป็นเครื่องมือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบอิเล็กทรอนิกส์พกพา ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้ โดยเมื่อมีการเปิดการใช้งานของเครื่องAED ก็จะสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้องได้ โดยการรักษานั้นระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องจะออกคำสั่งให้เราเป็นผู้ปฏิบัติตามได้