กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) นำโดย นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ซ้าย) และ นายเดซาเร็ก เทโส ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ (กลาง) ร่วมกิจกรรม We Speak Code
ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แคมเปญสัปดาห์รณรงค์การเขียนโค้ดของไมโครซอฟท์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไมโครซอฟท์ ยูธสปาร์ค โครงการที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนมองเห็นโอกาสในการดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้อย่างเต็มที่
ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สอ.ดย.) จัดกิจกรรม “We Speak Code” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการเขียนโค้ดซึ่งเปรียบเสมือนภาษาสากลของคนทั่วโลก
แคมเปญ “Hour of Code” เป็นแคมเปญระดับโลกของไมโครซอฟท์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากองค์กร Code.org เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดให้กับนักเรียนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสนุกสนาน ทั้งยังนับเป็นการวางรากฐานสำหรับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า “กิจกรรม We Speak Code เป็นก้าวแรกของการนำเยาวชนเข้าสู่โลกแห่งการเขียนโค้ด ภายใต้โครงการยูธสปาร์ค ไมโครซอฟท์ส่งเสริมให้เยาวชนในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ใช้เวลาวันละหนึ่งชั่วโมงในการทำความรู้จักโค้ด และยังผลักดันให้โค้ดเป็นภาษาที่สองของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ได้เรียนรู้การเขียนโค้ดร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน”
แคมเปญ Hour of Code ภายใต้แนวคิด “We Speak Code” มีจุดมุ่งหมายให้คนนับล้านทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้สัมผัสประสบการณ์การเขียนโค้ดในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด และยังช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ด้านการเขียนโค้ดและใช้งานคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนอีกด้วย
“เราต้องการให้คนได้มีความรู้ทางคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานที่จำเป็นของการทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งในปัจจุบันและในสายงานที่จะมีขึ้นในอนาคต” นางสาวศิริพรกล่าวเสริม “เราหวังที่จะใช้พลังของเยาวชน เป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้มีการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการให้ความรู้ฝึกอบรมทักษะด้านการเขียนโค้ด ซึ่งเราหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้มีความฝัน สามารถริเริ่มสร้างสรรค์ และเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิตและการทำงานของเราให้ดียิ่งขึ้น”
เทคโนโลยียังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชีย เยาวชนที่มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศย่อมจะมีความได้เปรียบและมีโอกาสในการแข่งขันสูงกว่าคนอื่นๆ ดังเช่นที่ผลการศึกษาในหัวข้อ “Connecting to Work” ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก เผยว่าอาชีพในอุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศอินเดีย มีรายได้ที่สูงกว่าอุตสาหกรรมบริการถึง 2 เท่า ในขณะที่ในประเทศฟิลิปปินส์ อาชีพที่ต้องใช้ความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีจะมีรายได้สูงกว่าอัตราการจ้างงานขั้นพื้นฐานถึง 38 เปอร์เซ็นต์
“We Speak Code เป็นความร่วมมือต่อเนื่องระหว่างสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ กับ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย” นางศรีศักดิ์ ไทยอารี ผู้อำนวยการ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ กล่าว “นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตแล้ว โครงการ We Speak Code ยังเป็นโอกาสที่เราและไมโครซอฟท์จะได้ตอกย้ำความสำคัญและคุณค่าของการเขียนโค้ดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราเชื่อว่าผู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเราจะเป็นตัวแทนในการแพร่กระจายเรื่องนี้ให้กับเพื่อนในสถาบันการศึกษาและชุมชนท้องถิ่น และขยายวงกว้างไปยังเยาวชนในระดับประเทศต่อไป”
“นี่เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้เรียนรู้การเขียนโค้ด” โยษิตา เฉิน ทูตสภาเยาวชน กรุงเทพมหานคร หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม We Speak Code กล่าว “กิจกรรมนี้ได้เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ที่เป็นประโยชน์ ในฐานะทูตสภาเยาวชน ดิฉันสามารถใช้ทักษะการเขียนโค้ดที่ได้เรียนรู้นี้ไปสร้างสื่อหรือแอพพลิเคชั่นในการนำเสนอประเด็นทางสังคมต่างๆ ให้เยาวชนจำนวนมากได้รับรู้”
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรม We Speak Code โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.wespeakcode.net และติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวจากทั่วโลกได้โดยค้นหาแท็ก #wespeakcode บนทวิตเตอร์
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาเยี่ยมชมที่เพจ ไมโครซอฟท์ เอเชียแปซิฟิก นิวส์เซ็นเตอร์ http://www.microsoft.com/apac/news/presskits/wespeakcode/