กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน
งาน Worldwide Developer Conference (WWDC) ของบริษัทแอปเปิล ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 57 ณ เมืองซาน ฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งงานที่ผู้เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก รวมทั้งผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นอย่างมากทุกปีเพื่อรอดูว่าผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างแอปเปิลจะมีเทคโนโลยีใหม่ตัวใดมานำเสนอ
นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์ ICT อาวุโสจาก ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาระดับโลก ได้ให้ความเห็นต่อการแถลงในช่วง Key Note speech ของงานในครั้งนี้ว่านอกเหนือจากการเปิดตัวฟังก์ชั่นและฟีเจอร์บนระบบปฏิบัติการใหม่ของแอปเปิล OS X และ iOS แล้ว โดยภาพรวมทิศทางหลักในส่วนของเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคยังคงเป็นเรื่องของ Internet of Things และเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการเชื่อมต่อของไลฟ์สไตล์หรือ Connected Living
“นอกเหนือจากการพัฒนาลูกเล่นและความสามารถบนระบบปฏิบัติการใหม่แล้ว แอปเปิลได้เปิดตัว HealthKit และ HomeKit สองเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อเทรนด์การเชื่อมต่อของเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ โดย HealthKit จะเป็นศูนย์กลางในการรับและรวบรวมข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์ต่างๆเช่น iPhone และอุปกรณ์สวมใส่ที่ช่วยตรวจวัดสภาพการทำงานของร่างกาย เช่น ชีพจร คลื่นหัวใจ การใช้งานของร่างกายเข้าด้วยกัน สำหรับ HomeKit จะช่วยเป็นศูนย์ควบคุมและจุดศูนย์กลางสั่งการเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะหรือ Smart Home อันรวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย แสงสว่าง ระบบควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทางแอปเปิลได้ร่วมพัฒนาอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้ร่วมกับกลุ่มบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าและวิศวกรรมจากทั่วโลก เช่น HoneyWell และ Haier” นายธีระ กล่าว
“ทั้ง HealthKit และ HomeKit ล้วนเป็นนวัตกรรมต่อยอดจากแนวคิดด้าน Internet of Things (IoT) จากแอปเปิล ซึ่งหมายถึงการที่อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆเริ่มมีความฉลาดมากขึ้นและถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ IoT ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลาย ค่ายผู้ผลิต Hardware ต่างพยายามสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนำเสนอระบบของตัวเองเข้าสู่ตลาด แต่ที่ยังขาดหายไปคือเทคโนโลยีที่สร้างการเชื่อมต่อระหว่างเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกัน รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อกับมนุษย์ผู้ใช้งาน ถ้าเรามองในภาพรวมแล้วเราจะเห็นว่าสิ่งที่แอปเปิลพยายามสร้างสรรค์นั้นเป็นนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ช่องว่างที่ยังขาดหายไปในส่วนนี้”
“แอปเปิลได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ต่างๆ หรือ Continuity มากเช่นกัน ในระหว่างแถลงการเปิดงานแอปเปิลได้โชว์เทคโนโลยี Handoff ที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆบนแอปเปิลแพล็ตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น iPhone iPad รวมทั้งเครื่อง Mac สามารถทำงานเชื่อมกันได้โดยไร้รอยต่อ”
“สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของ Proximity Awareness หรือการที่อุปกรณ์ต่างๆมีความสามารถในการรับรู้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำแหน่งของอุปกรณ์และผู้ใช้ รวมถึงรูปแบบเนื้อหาการใช้งานว่าในขณะนั้นผู้ใช้กำลังทำงานหรือต้องการสื่อสารแบบใด และสามารถให้ความช่วยเหลือแนะนำผู้ใช้ได้อย่างมีประโยชน์ โดยในภาพรวมเราจะเห็นได้ว่าทิศทางการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้บริโภคทั่วไปนั้นยังคงเดินไปตามเทรนด์ Connected Living หรือการที่เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้น ทั้งในระดับเทคโนโลยีต่อเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค”
นอกจากนี้แอปเปิลยังเผยว่าจนถึงปัจจุบันได้มีการขายอุปกรณ์ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Ios ไปแล้วมากกว่า 800 ล้านเครื่อง เป็น iPod Touch มากกว่า 100 ล้านเครื่อง iPad มากกว่า 200 ล้านเครื่อง และเป็นโทรศัพท์ iPhone มากกว่า 500 ล้านเครื่อง โดยในช่วงปีที่ผ่านมาแอปเปิลได้ขายอุปกรณ์เหล่านี้ให้กับลูกค้าใหม่มากกว่า 130 ล้านราย และแม้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรม PC จะหดตัวลงถึง 5% ในไตรมาสที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ส่วนแบ่งตลาดของ Macs กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 12%
“การขยายตัวอย่างรวดเร็วของฐานผู้ใช้งานส่งผลให้ในปัจจุบัน App Store ของแอปเปิลได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีผู้สนใจเข้าร่วมบนแพล็ตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจากกลุ่มผู้พัฒนาแอพและกลุ่มผู้ใช้งาน จนในวันนี้บน App Store มีแอพให้เลือกมากกว่า 1.2 ล้าน แอพด้วยกัน มีการดาวน์โหลดรวมแล้วมากกว่า 75 พันล้านครั้ง และ App Store มีผู้เข้าชมมากกว่า 300 ล้านคนต่อหนึ่งสัปดาห์“ ธีระกล่าว
“แอปเปิลยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่ยังเพิ่มความสามารถใหม่ให้กับระบบปฏิบัติการ iOS 8 ที่ช่วยลดข้อได้เปรียบของระบบปฏิบัตการแอนดรอยด์ลง เช่น Extensibility ที่อนุญาตให้แอพต่างๆที่กำลังถูกใช้งานสามารถเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันได้บนระบบความปลอดภัยที่รัดกุมของแอปเปิล รวมทั้งเปิดระบบปฏิบัติการให้มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งเพิ่มเติมให้มีลูกเล่นมากขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ โดยผู้ใช้มีทางเลือกที่จะเปลี่ยนรูปแบบและหน้าตาของคีย์บอร์ด และเพิ่มเติม widget ที่อำนวยความสะดวกต่อการใช้งานได้ตามต้องการ และยังเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้นักพัฒนาได้สร้างส่วนต่อเติมมาขายอีกด้วย คุณสมบัติที่กล่าวมานี้ล้วนเคยเป็นข้อได้เปรียบของแอนดรอยด์ที่มีต่อ iOS การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของแพลตฟอร์มในครั้งนี้เป็นก้าวใหญ่ของแอปเปิลในการแย่งส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้จากแอนดรอยด์“ นายธีระเสริม