กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--สำนักงาน กปร.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาเป็นเวลานานด้วยพระอุตสาหะ และทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะประชาชนชาวไทยเท่านั้น พระองค์ยังพระราชทานความห่วงใยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นับตั้งแต่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว ) ราชอาณาจักรกัมพูชา สหภาพพม่า และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งกลุ่มประเทศเอเชีย ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศเหล่านั้น ให้มีสุขภาพดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จากความร่วมมือและสานสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ของไทย เพื่อให้เกิดผลแห่งความร่วมมือและประโยชน์ร่วมกัน
นับจากเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือน สปป. ลาว ระหว่างวันที่ 8 และ 9 เมษายน 2537 เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดอาคารที่ทำการสำนักงานโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) ณ เมืองนาทรายทอง แขวงเวียงจันทน์ พร้อมกับทอดพระเนตร โครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ได้สานสัมพันธ์การพัฒนาของสองแผ่นดิน จากการพระราชทานความช่วยเหลือ ด้วยพระเมตตา ทรงเอาพระทัยใส่ในการติดตามงาน เพื่อให้ประชาชนชาวลาว ได้รับความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่องเสมอมา
จุดเริ่มต้นของศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) เริ่มจากครั้งที่ฯพณฯ นายไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศลาว ได้มีสาส์นกราบทูลพระกรุณาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2535 ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาฯ เฉกเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการด้านการเกษตรให้แก่ราษฎรชาวลาวได้รับประโยชน์เหมือนกับราษฎรไทย
นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.) ในฐานะหน่วยงานกลางมีหน้าที่หลักในการสนองพระราชดำริและประสานการดำเนินงานทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า โครงการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้เป็นศูนย์ “พัฒนาและบริการ” โดยนำการศึกษาที่มีผลสำเร็จในประเทศไทยไปบริการและขยายผลที่ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) ต่อไป ปัจจุบัน ผลสำเร็จเกิดขึ้นอย่างชัดเจนได้แก่ ด้านข้าว ด้านประมง และด้านสัตว์ นอกจากการดำเนินงานภายในศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) แล้วยังได้ขยายผลไปยังเกษตรกรรอบศูนย์ 9 บ้าน สู่ 9 แขวง ใน สปป.ลาว เน้นรูปแบบการพัฒนาที่มาจากความต้องการของราษฎรในแต่ละแขวง เพื่อให้การพัฒนาอาชีพมีความยั่งยืน อาทิ แขวงหลวงพระบาง เลือกอาชีพการประมง แขวงพงสาลี เลือกอาชีพเพาะเห็ด เป็นต้น
ในปี 2537 นั้น เป็นวาระสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ด้วยศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) ได้ดำเนินการสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 20 ปี ดังนั้น สำนักงาน กปร. ในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงาน และมีส่วนในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวลาวให้ดีขึ้น จึงได้กำหนดให้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง ภายใต้ชื่อ 20 ปี ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว ซึ่งจะจัดขึ้นในปลายเดือนเมษายน 2557 โดยจะนำผลสำเร็จจากการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ ที่ขยายผลไปยังเกษตรกร และแขวงต่างๆ ใน สปป.ลาว ได้มาจัดแสดงให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ซึ่งภายในงานประกอบด้วย การประชุมสัมมนาด้านวิชาการ การแสดงนิทรรศการ การออกร้านแสดงผลผลิตของเกษตรกร โดยจะผสมผสานระหว่างวิชาการและการแสดงผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งหน่วยงานของประเทศไทย จะได้นำพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ดี มาแสดงให้ประชาชนชาวลาวได้เรียนรู้ภายในงาน อีกด้วย
โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) อีกหนึ่งโครงการที่เกิดจากพระเมตตาใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้ง เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งแรกเมื่อปี 2533 และได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงินจำนวน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า และได้พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร” พร้อมกับได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนฯแห่งนี้ โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม อาทิ การทำขนม ช่างไฟฟ้า และช่างไม้ ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และสามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เลขาธิการ กปร. กล่าวถึงความประทับใจในการสนองพระราชดำริ และติดตามเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ว่า ครั้งหนึ่งมีรับสั่งถึงสุภาษิตจีนที่กล่าวว่า “สร้างคน 1 คน ดีกว่าการสร้างเจดีย์ 7 ชั้น” จะเห็นได้ว่าพระองค์มิได้มุ่งหวังจะสร้างวัตถุแต่ประการใด หากมีพระราชประสงค์ต้องการสร้างคน ให้มีสุขภาพดี เป็นคนดี มีความรู้เพื่อประกอบสัมมาอาชีพ และมีคุณธรรม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนชาวไทย หรือต่างชาติ พระองค์ก็ให้ความสำคัญในการพัฒนาคน เพราะนั่นคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงปฏิบัติเพื่อให้สังคมดีและเจริญก้าวหน้าขึ้น อันเป็นการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้มั่นคง ซึ่งไม่ใช่เพียงราษฎรชาวไทยเท่านั้น ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว พระราชกรณียกิจที่ได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประจักษ์ ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวลาวให้ดีขึ้น ก่อเกิดความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย นับเป็นบทพิสูจน์ถึงมิตรภาพและความร่วมมือที่แนบแน่น เพื่อความสงบสุขอย่างมั่นคงและยิ่งยืน สืบไป