กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุม DDC Forum ครั้งที่ 3 เรื่อง “การพยากรณ์โรคหน้าฝน...ควรรู้เพื่อควบคุมป้องกันในประเทศไทย” โดยคาดว่าหน้าฝนนี้ โรคที่มีแนวโน้มจะระบาด คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจพบผู้ป่วยถึงเดือนละ 20,000–26,000 ราย และโรคมือ เท้า ปาก ในเดือนกรกฎาคม อาจจะพบผู้ป่วยถึง 5,500 ราย สำหรับผลสำรวจทัศนคติความคิดเห็นประชาชน (ดีดีซีโพล) เรื่อง“รู้จักและเข้าใจกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โรคไข้หวัดใหญ่และเมอร์ส-โควี” พบ คนไทยร้อยละ 72.7 อยากฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และร้อยละ 78.8 ประชาชนอยากให้รถโดยสารสาธารณะมีจุดล้างมือหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม DDC Forum ครั้งที่ 3 เรื่อง“การพยากรณ์โรคหน้าฝน...ควรรู้เพื่อควบคุมป้องกันในประเทศไทย” ว่าช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศที่เย็นและชื้น ทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วกว่าปกติ กรมควบคุมโรคจึงออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคที่เกิดในฤดูฝน ประจำปี 2557 โดยแบ่งโรคเป็น3 กลุ่ม ดังนี้ 1.โรคที่มีแนวโน้มจะระบาด ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคมือ เท้า ปาก 2.โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก และไวรัสตับอักเสบ เอ และ 3.โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซิส โรคปอดบวม ไข้สมองอักเสบเจอี อหิวาตกโรค และมาลาเรีย
สำหรับการพยากรณ์โรคหน้าฝนในปีนี้ เน้นเฝ้าระวังโรคที่มีแนวโน้มจะระบาด ได้แก่ 1. โรคไข้หวัดใหญ่จากข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2556 พบ จำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม มีรายงานมากกว่าช่วงเดือน มกราคม-เมษายน ประมาณ 1.5 เท่า และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ.2557 กับปี พ.ศ.2556จำแนกเป็นรายเดือน พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มากกว่าปี 2556 คิดเป็น 1.9 เท่า, เดือนมีนาคม มากกว่า 3.1 เท่าและเดือนเมษายน มากกว่า 2 เท่า สำหรับการพยากรณ์โรคคาดว่าในปี 2557 จะมีรายงานผู้ป่วยสูงสุดในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ประมาณเดือนละ 20,000–26,000 ราย ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ดีและเหมาะสม ส่วนสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–30 พฤษภาคม 2557
สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ รวม 36,390 ราย เสียชีวิต 59 ราย อัตราป่วยสูงสุดพบในกลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ 5-14 ปี2. โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งโรคนี้มักเกิดกับเด็กเล็ก จากข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2556 พบว่า จำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม มีรายงานมากกว่ามากกว่าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ประมาณ 3.5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยในปี พ.ศ.2557 กับปี พ.ศ.2556 จำแนกเป็นรายเดือน พบว่า ในเดือนมีนาคม 2557 มากกว่าปี 2556คิดเป็น 1.4 เท่า และเดือนเมษายน 1.7 เท่า สำหรับการพยากรณ์โรคคาดว่าในปี 2557 เดือนกรกฎาคมจะเป็นเดือนที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด ประมาณ 5,500 ราย ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ดีและเหมาะสม ส่วนสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–24 พฤษภาคม 2557
สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก รวม 12,602 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากสุดคือ อายุ 1 ปี ร้อยละ34.61 อายุ 2 ปี ร้อยละ24.59 และอายุ 3 ปี ร้อยละ13.62 ตามลำดับ
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ DDC Poll (ดีดีซีโพล) ครั้งที่ 6 เรื่อง “รู้จักและเข้าใจกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โรคไข้หวัดใหญ่และเมอร์ส-โควี” โดยการสำรวจความคิดเห็นประชากรกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 3,010 ตัวอย่าง ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค 4 ภาค รวม 23 จังหวัด แบ่งเป็นบริเวณแหล่งชุมชน ตลาด ห้างสรรพสินค้าหรือบริเวณสถานที่ราชการ ตลอดจนหมู่บ้านนอกเขตเทศบาล พบว่า 1. ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 72.7) อยากฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2. ประชาชนร้อยละ 58.2 ไม่รู้จักโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ เมอร์ส-โควี 3. ประชาชนร้อยละ 73.6 อยากให้มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารบนเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสาร ที่มีอาการไอมีน้ำมูก ใส่หน้ากากป้องกันโรค และ 4. ประชาชนร้อยละ 78.8 อยากให้มีข้อบังคับให้บนเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสาร มีจุดล้างมือ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น จากการสรุปผลสำรวจทัศนคติ ความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “รู้จักและเข้าใจกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โรคไข้หวัดใหญ่และเมอร์ส-โควี” พบว่า ยังไม่เป็นที่รู้จักอาจเป็นเพราะว่ายังไม่พบผู้ป่วยโรคดังกล่าว แต่เมื่อสำรวจทัศนคติ ความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกกลัวและอยากจะฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรค
"อย่างไรก็ดี ช่วงนี้อากาศร้อนในช่วงกลางวัน ช่วงค่ำถึงดึกอากาศเย็น และบางวันมีฝนตก อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดได้ง่าย หากพบว่ามีอาการป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้ ใช้ผ้าปิดจมูกปากเวลาไอ หรือจามสวมหน้ากากป้องกันโรคหมั่นล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากอาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือมีไข้สูงมากกว่า 2 วัน ไอมาก หอบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422" นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย