กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา นำ 2 ผลงาน ดีวีดีชุดฐานความรู้ภูมิปัญญาไทย และโปรแกรมระบบประกันคุณภาพการศึกษาออนไลน์ เข้าจดลิขสิทธิ์ เผยใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง
รศ.ดร.สุนทร โสตถิพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มรภ.สงขลา ได้จดแจ้งลิขสิทธิ์ดีวีดีชุดฐานความรู้ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น จำนวน 5 แผ่น ได้แก่ การนวดเพื่อรักษาโรคเบาหวาน การนวดเพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต การนวดเพื่อรักษาโรคหอบหืด การนวดเพื่อรักษาโรคสายตา และลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระบบประกันคุณภาพการศึกษาออนไลน์ ซึ่ง มรภ.สงขลา เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ ดีวีดีชุดฐานความรู้ภูมิปัญญาไทย จัดทำโดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม สร้างสรรค์ผลงานโดย นายบุตร ปานประดิษฐ์ ผลงานดังกล่าวผู้สร้างสรรค์มีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดวิชาการนวดเส้นเพื่อรักษาโรคไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และไม่อยากให้วิชานี้สูญหายไปจากแผ่นดินไทย ส่วนลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระบบประกันคุณภาพการศึกษาออนไลน์ (MGT E-SAR) จัดทำโดยคณะวิทยาการจัดการ สร้างสรรค์ผลงานโดย นายวุฒิชัย อินทร์แก้ว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวสามารถใช้เก็บเอกสารอ้างอิง และการประมวลผลการประเมินคุณภาพทางการศึกษา เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับการตรวจประเมินการประกันคุณภาพทั้งของ สกอ. และ สมศ. ใช้งานได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสามารถประหยัดทรัพยากรการใช้กระดาษ สะดวกรวดเร็ว และประหยัดเวลาในการค้นหา
ด้าน นายวุฒิชัย อินทร์แก้ว ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวางแผนและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา อธิการบดี กล่าวว่า ระบบดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาของ สกอ. ซึ่งที่ผ่านมาการค้นหาเป็นไปอย่างลำบากในแต่ละตัวบ่งชี้ และการจัดเก็บเอกสารหลักฐานอ้างอิงเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในการชี้แจงให้คณะกรมการที่ทำการประเมินคุณภาพทราบ หลังจากตรวจรับการประเมินเรียบร้อยแล้ว เอกสารหลักฐานอ้างอิงเหล่านั้นก็ไม่มีที่จัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ และเกิดการสูญหายของเอกสาร ประกอบกับคณะวิทยาการจัดการ มีสถานที่จัดเก็บเอกสารไม่เพียงพอกับการเก็บเอกสารย้อนหลังหลายรอบปีการประเมินประกันคุณภาพ ทั้งภายในและภายนอก ดังนั้น จึงได้พัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาออนไลน์ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิคส์ และจัดเก็บตามตัวบ่งชี้ของการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งสามารถบันทึกผลการดำเนินงานของแต่ละตัวบ่งชี้ โดยการป้อนข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ อาจารย์ และผู้บริหารของคณะฯ พร้อมทั้งสามารถทราบผลคะแนนการประเมินเบื้องต้น และผลสรุปคะแนนรวมของทุกตัวบ่งชี้ตามมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก ในรูปแบบโปรแกรมวิชาและคณะฯ ได้โดยแบบออนไลน์ นอกจากนั้น ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับการตรวจประเมินการประกันคุณภาพทั้งของ สกอ. และ สมศ. ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ทางคณะฯ ได้ทดลองใช้ในการตรวจประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก ประจำปีการศึกษา 2554 และ 2555 มาแล้ว ซึ่งปรากฏว่าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี ทั้งระบบการจัดเก็บเอกสารตามตัวบ่งชี้ การอ้างอิงเอกสารผลการดำเนินงานรายตัวบ่งชี้ การสืบค้นเพื่ออ้างอิงเอกสาร