กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--มทร.ธัญบุรี
“2 ปี ที่ปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ นอกจากการประหยัดเงิน ได้สุขภาพที่แข็งแรง ที่สำคัญยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยครับ” น้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจ ของประธานชมรมจักรยาน คลอง. 6 “อั๊ฟ” นายพันธนันท์ ดวงศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาศิลปะไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
อั๊ฟ เล่าว่า เข้ามารับหน้าที่ประธานชมรมจักรยานคลอง 6 ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เทอม 2 โดยปัจจุบันมีสมาชิกชมรมประมาณ 100 คน ซึ่งภายในชมรมจะจัดกิจกรรมในการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพภายในมหาวิทยาลัยฯ ทุกอาทิตย์ เพื่อเป็นการช่วยโลก กว่า 2 ปีที่ตนเองปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ ระยะทางจากบ้านที่ลำลูกกาคลอง 2 ถึงมหาวิทยาลัยฯ ประมาณ 20 กิโลเมตร ถ้านั่งรถโดยสารประจำทางใช้เวลา 2 - 3 ชั่วโมง แต่ตนเองใช้ระยะเวลาในการปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ออกจากบ้านเวลา 07.00 - 08.00 น. ประหยัดเงินไปกลับบ้าน 160 บาท
ปัจจุบันมีจักรยาน 2 คัน เป็นจักรยานโบราณทั้ง 2 คัน โดยคันแรกวงล้อ 128 ซื้อมาจากร้านขายของเก่าในราคา 4,500 บาท จะใช้งานเฉพาะเวลาที่ต้องขนของมาส่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฯ และออกไปซื้อของ ส่วนอีกคันวงล้อ 126 ซื้อมาจากร้านขายของเก่าในราคา 400 บาท ต้องเอามาซ่อมเอง จักรยานที่ปั่นมามหาวิทยาลัยฯ ทุกวัน ในมุมมองส่วนตัวจะปั่นจักรยานมหาวิทยาลัยฯ จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา เนื่องจาก 1. ในเรื่องของสุขภาพ ถือเป็นการออกกำลังกาย 2. ประหยัดเงิน 3. ช่วยสิ่งแวดล้อมไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ
จักรยานผูกพันมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้ เห็นพ่อและแม่ปั่นจักรยาน โดนพ่อและแม่จะปั่นจักรยานเพื่อออกไปขึ้นรถหน้าปากซอย โดยพ่อทำงานเป็น รปภ. อยู่ที่บิ๊กซี นวนคร ส่วนแม่เป็นพนักงานขายรองเท้าอยู่ที่ห้าง ได้เห็นพ่อและแม่ปั่นทุกวัน เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้รักในการปั่นจักรยาน การปั่นจักรยานได้รับความนิยมมากขึ้น มีการรณรงค์โครงการต่างๆ หรืออาจจะมีกระแส ซึ่งดาราบางคนให้ความสนใจกับการปั่นจักรยาน “ดีใจที่คนไทยหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น”
สำหรับจักรยานที่ตนเองปั่นมาเรียน อาจจะไม่ใช่จักรยานราคาแพง เนื่องจากมีทุนในการเลือกซื้อน้อย โดยจักรยานมีให้เลือกเยอะ มีทั้งราคาถูก และราคาแพง แต่ถ้าจะซื้อจักรยานแนะนำให้นึกถึงประโยชน์ใช้สอยดีกว่า ถ้าซื้อมาแพง แต่ซื้อมาจอดไว้ที่บ้าน หรือว่าต้องการซื้อมาออกกำลัง ควรซื้อให้เหมาะกับการออกกาย เช่นเดียวกับจักรยาน ราคา 400 บาท ที่ซื้อมาจากร้านขายของเก่า แล้วนำมาซ่อมปรับสภาพ จนสามารถปั่นมาเรียนได้ ซึ่งจักรยานราคาถูกคันนี้ “ผมปั่นไปสัมมนาองค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นการปั่นจักรยานที่ไกลที่สุด
จักรยานที่ใช้มีอายุและเวลาของการใช้งาน ซึ่งทุกวันนี้เก่าลง และสภาพไม่สมบูรณ์เหมือนที่ซื้อมาปั่นใหม่ๆ จึงจะหาเงินซื้อจักยานใหม่ โดยทำงานพิเศษเป็นพนักงานขายรองเท้า 6 เดือนที่ทำงาน จะสามารถเก็บเงินซื้อจักรยานคันใหม่ได้ สำหรับใครที่อยากลองหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง นอกจากที่จะปั่นแล้ว ควรคำนึงถึงความปลอดภัย เนื่องจากประเทศไทย ถนนบางเส้นไม่เอื้ออำนวย หรือบางคนที่ใช้รถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ ควรมีน้ำใจให้กับพี่น้องสองล้อบนท้องถนนด้วย
“หมวก เสื้อเชิ้ตนักศึกษาแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าหุ้นส้นหนัง อาศัยตอนเช้าไม่มีแดดปั่นมาเรียนมหาวิทยาลัยฯ ระยะทาง 20 กม. เหนื่อยบ้าง หรือว่ามีอุปสรรคบนท้องถนนบ้าง แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาการเดินทางของผม เพื่อช่วยโลกของเรา ลดโลกร้อน ถึงผมจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ถ้าเราไม่ช่วยกันทำแล้วใครจะทำครับ” ประธานชมรมจักรยาน คลอง.6 มทร.ธัญบุรี กล่าวทิ้งท้าย