การให้ยาเลโทรโซล หลังจากรักษาด้วยยาทามอกซีเฟ่น อาจมีประโยชน์ ในการรักษาผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม

ข่าวทั่วไป Monday October 10, 2005 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
ข้อมูลการศึกษาใหม่ล่าสุด ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of the National Cancer Institute ซึ่งตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ฉบับวันที่ 7 กันยายน 2548 พบว่า ในผู้ป่วยหญิงวัยหลังหมดประจำเดือนที่ได้รับการรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาทามอกซีเฟ่นมา 5 ปี การเปลี่ยนมาใช้ยาเลโทรโซลนั้น มีผลลดความเสี่ยงการกลับเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำลงได้ แต่ไม่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตโดยรวมมาตรฐานการรักษามะเร็งเต้านมในหญิงที่ตรวจพบตัวรับเอสโตรเจนให้ผลบวก (estrogen receptor positive) คือ การใช้ยาทามอกซีเฟ่น เป็นระยะเวลานาน 5 ปี การยืดระยะเวลาการรักษาไปนานกว่า 5 ปี พบว่าไม่เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย และในผู้ป่วยหลายรายจะตรวจพบการกลับเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำภายหลังการหยุดยา
ยาทามอกซีเฟ่น ออกฤทธิ์โดยยับยั้งผลของฮอร์โมนเอสโตรเจน อย่างไรก็ตามภายหลังได้รับยานี้นานเกิน 5 ปี พบว่า เซลส์มะเร็งอาจมีการดื้อต่อยานี้ สำหรับยากลุ่มใหม่ที่เรียกว่า aromatase inhibitors นั้น สามารถยับยั้งเอนไซม์ aromatase อย่างเฉพาะเจาะจง จึงมีผลลดระดับฮอร์โมน เอสโตรเจนลงได้ ข้อมูลการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า เซลล์มะเร็งซึ่งเกี่ยวข้องกับการกลับเป็นมะเร็งซ้ำอาจอ่อนฤทธิ์ลงจากการใช้ยากลุ่มใหม่นี้ หลังจากดื้อต่อยาทามอกซีเฟ่นแล้ว
เพื่อทดสอบว่ายาเลโทรโซล ซึ่งเป็นยากลุ่ม aromatase inhibitor สามารถยืดผลปกป้องของยาทามอกซีเฟ่น ไปได้นานกว่า 5 ปี ทางสถาบัน National Cancer Institute of Canada’s Clinical Trial Group ได้ร่วมมือกับสถาบัน The North American Breast Intergroup ริเริ่มการศึกษาทางคลินิกที่ชื่อว่า MA17 ขึ้น โดยทำการสุ่มผู้ป่วยหญิงวัยหลังหมดประจำเดือนที่เป็นมะเร็งเต้านม ที่ได้รับยาทามอกซีเฟ่นมาแล้วเป็นระยะเวลานาน 5 ปี จำนวน 5187 ราย เพื่อให้ได้รับยาเลโทรโซลหรือยาหลอกต่ออีก 5 ปี
ภายหลังติดตามผลนาน 30 เดือนพบว่า กลุ่มที่ได้ยาเลโทรโซล มีอัตราการรอดชีวิต โดยไม่พบการแพร่กระจายของมะเร็งสูงกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษายังพบอีกว่า กลุ่มที่ได้ยาหลอกจำนวน 2587 ราย พบ 155 ราย (6%) จะกลับเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำหรือเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่ง ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาเลโทรโซล จำนวน 2583 ราย จะพบเพียง 92 ราย (3.6%)
ถึงแม้แผนการศึกษาจะกำหนดไว้ 5 ปี ก็ตาม แต่การศึกษาได้ถูกยุติลงหลังจากศึกษาไปได้ 4 ปี ทั้งนี้เพราะประสิทธิผลที่ได้รับจากยาเลโทรโซลมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้ยาหลอกก็ได้ถูกเปลี่ยนมาใช้ยาเลโทรโซล สำหรับผลการศึกษาบางส่วนของการศึกษานี้ได้รับการ ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้แล้วในปี 2546 อย่างไรก็ตามผลการศึกษาใหม่ล่าสุดนี้ได้วิเคราะห์ผลทั้งหมดไว้รวมทั้งข้อมูลในผู้ป่วยกลุ่มย่อย ถึงแม้ว่าอัตราการรอดชีวิตโดยรวมในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มจะไม่แตกต่างกันก็ตาม แต่ในผู้ป่วยกลุ่มย่อยซึ่งตรวจพบการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมไปยังต่อม น้ำเหลืองนั้น การได้รับยาเลโทรโซลจะให้ผลต่ออัตราการรอดชีวิตโดยรวมดีมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเลโทรโซล พบผลข้างเคียงบางอย่างมากกว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก โดยพบภาวะกระดูกพรุนในกลุ่มที่ได้รับยาเลโทรโซล 8.1 % และ 6% ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก สำหรับอาการร้อนวูบวาบนั้น พบในกลุ่มที่ได้รับยาเลโทรโซล 58% และในกลุ่มที่ได้ยาหลอก 54% โดยผลดังกล่าวเกิดจากการลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน
ผู้วิจัยได้ให้ข้อสังเกตว่าการศึกษานี้มีระยะเวลาติดตามผลค่อนข้างสั้น อย่างไรก็ตามผู้วิจัยยังคงสนับสนุนและยืนยันข้อมูลที่ว่า “การใช้ยาเลโทรโซล เป็นยาเสริมภายหลังการผ่าตัดมะเร็ง เต้านมนั้น ช่วยลดความเสี่ยงของการกลับเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำได้และผู้ป่วยสามารถทนต่อยานี้ได้ดี เยี่ยม ผู้วิจัยสรุปผลการศึกษาว่า“ควรใช้ยาเลโทรโซลเป็นยาเสริมภายหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านมในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยามาตรฐานทามอกซีเฟ่นมาแล้ว”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณชนานันท์ คงธนาฤทธิ์
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทร. 0-2439-4600 ต่อ 8204--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ