กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ(UNAIDS) เปิดตัว AIDS ZERO PORTAL ผ่านเว็บไซต์ www.aidszeroportal.org (AZP) เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชน สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องเอดส์ ทั้งด้านสถานการณ์และการดำเนินงานสำคัญในประเทศไทยอย่างรอบด้าน ด้วยวิธีที่ง่าย สะดวก ทุกที่ทุกเวลา
ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัว AIDS ZERO PORTAL ผ่านเว็บไซต์ www.aidszeroportal.org (AZP) ว่า ปัจจุบัน (ปี 2556) สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทยมีผู้อยู่กับเชื้อเอชไอวีประมาณ 460,000 คน มีมากกว่า 246,000 กำลังได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ในแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 8,200 คน และเสียชีวิตอันเนื่องจากเอดส์ประมาณ 21,000 คน 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีใหม่เกิดขึ้นใน 33 จังหวัด ที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดเดียวที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงร้อยละ 25 ของผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งประเทศ
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้า สู่เป้าหมาย “Getting to Zero” หรือ “เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้” ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ “ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ” ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงได้ดำเนินตามนโยบายยุติปัญหาเอดส์ โดยกำหนดมาตรการสำคัญการดำเนินงานและระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งมี 7 ข้อ ดังนี้ (1) การเข้าถึงเชิงรุกและชักชวนประชากรหลักเป้าหมาย(ชายมีเพศสัมพันธ์กับชายสาวประเภทสอง พนักงานบริการหญิงและชาย และผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีด ผู้ต้องขัง และคู่ของผู้มีผลเลือดบวก)ให้ได้ข้อมูลอุปกรณ์ป้องกันและเข้ารับบริการผสมผสานครอบคลุมร้อยละ 90 (2) การส่งเสริมการรู้สถานการณ์ติดเชื้อให้กับประชากรวัยเจริญพันธุ์ทุกคนโดยมุ่งเน้นให้ครอบคลุมประชากรหลักร้อยละ90 (3) การให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสแต่เนิ่นๆในทุกคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อฯ (4) การสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายคงอยู่ในระบบบริการและกินยาสม่ำเสมอ (5) การพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพและระบบชุมชนเพื่อรองรับการดูแลต่อเนื่องตลอดชีวิต (6) การปรับภาพลักษณ์เอดส์ให้เป็นเรื่องธรรมดาสารถจัดการได้รวมทั้งการลดการตีตราเลือกปฏิบัติและส่งเสริมกลไกการคุ้มครองสิทธิ (7) การพัฒนาและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์และการติดตามประเมินผล
ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจัดการปัญหาเอดส์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในนามคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ด้วยความร่วมมือกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ทำการเปิดตัว AIDS ZERO PORTAL ผ่านทางเว็บไซต์ชื่อ www.aidszeroportal.org (AZP) ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมแนวหน้าของโลกที่พัฒนาขึ้นเพื่อการเข้าถึงข้อมูลด้านเอดส์ที่สำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้จัดการแผนงาน ทั้งระดับประเทศ ระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ ในการเข้าถึงข้อมูลเชิงกลยุทธที่สำคัญทั้งด้านสถานการณ์ ด้านการใช้จ่ายงบประมาณ และด้านความก้าวหน้าการดำเนินงาน โดยเครื่องมือนี้มีการนำเสนอข้อมูลที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ข้อมูลมีความทันสมัย เข้าถึงได้สะดวก ได้ทุกสถานที่ทุกเวลา เพื่อช่วยการวางแผน ปรับปรุงการดำเนินงาน และติดตามความก้าวหน้าเพื่อมุ่งสู่การยุติปัญหาเอดส์
ส่วนการเข้าถึงข้อมูลสำคัญการดำเนินงานด้านเอดส์ที่เป็นปัจจุบัน โดยเข้าได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับและคนทำงานด้านเอชไอวีทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคีต่างๆ สามารถติดตามความก้าวหน้าและรู้ปัญหาการดำเนินงานเร็วขึ้น สามารถพัฒนา ปรับปรุงและแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีและทันเวลา ในปี 2556 ประเทศไทยใช้จ่ายเงินด้านเอดส์รวมทั้งสิ้นเกือบเก้าพันล้านบาท แต่ใช้ลงทุนเพื่อการป้องกันในกลุ่มประชากรหลักเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น AIDS ZERO PORTAL จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราพิจารณาจัดสรรงบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งขึ้น และครอบคลุมประชากรและพื้นที่สำคัญทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถลดผลกระทบจากโรคเอดส์ได้อย่างเห็นผล
ส่วนนางชูมิลินา (Ms. Shoumilina) ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญมากสำหรับประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมายที่เป็นศูนย์ได้ คือการจัดให้มีบริการสำคัญในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง และให้ครอบคลุมประชากรหลักที่สำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีใครถูกทอดทิ้งเข้าไม่ถึงบริการ AIDS ZERO PORTAL เป็นเครื่องมือที่ช่วยคลี่คลายความยุ่งยากและซับซ้อนของการใช้ข้อมูลเอื้อให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหาร ผู้จัดการแผนงานโครงการ สามารถใช้ข้อมูลเพื่อกำหนดกลวิธี กิจกรรมสำคัญและกำหนดงบประมาณการป้องกันและแก้ปัญหาเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดลำดับความสำคัญและออกแบบการบริการติดตามความก้าวหน้า และค้นหาสิ่งที่ต้องปรับปรุงการดำเนินงาน
สำหรับประชาชน ขอให้ทุกคนหันมาป้องกันตนเอง และรับผิดชอบเมื่อมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกกลุ่ม ถ้าต้องการคำปรึกษาเรื่องสุขภาพทางเพศ สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลและเครือข่ายบริการที่เป็นมิตรใกล้บ้าน ซึ่งการติดเชื้อเอชไอวีทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันคนไทยทุกคนสามารถเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง หากประชาชนสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการปัญหาเอดส์แห่งชาติ 02-5903828-9 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422