กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--โฟร์ พี.แอดส์
ข้อมูลชี้!! ธุรกิจยอดนิยม 1 ใน 5 ที่มีการขอจดทะเบียนมากที่สุดคือธุรกิจร้านอาหาร และผู้สัมผัสอาหารที่ทำงานในร้านอาหารคือบุคคลที่มีผลต่อความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร กรมอนามัยเข้มจัดอบรมผู้สัมผัสอาหารทั่วประเทศให้มีความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหาร เป็นการรับประกันความสะอาด ปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยตามโครงการ“ร้านอาหารไทยปลอดภัย สุขภาพดี หรือ Clean Food Good Taste Plus”
ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังการเป็นประธานมอบบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของประเภทธุรกิจที่มีการขอจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุดซึ่งเป็นข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ณ เดือน พฤศจิกายน 2556 ส่วน “ผู้สัมผัสอาหาร”ซึ่งประกอบด้วย ผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟ ผู้จำหน่ายอาหารเป็นผู้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยของผู้บริโภคที่มาใช้บริการจากร้านอาหาร โดยจะมีบทบาทในการเลือกวัตถุดิบมาปรุง-ประกอบอาหารให้ผู้บริโภคได้รับประทาน มีบทบาทในการควบคุมและพัฒนาสถานประกอบการด้านอาหารให้ได้มาตรฐานถูกสุขลักษณะตามกฎหมายและข้อกำหนดของท้องถิ่น หากผู้สัมผัสอาหารปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลหรือปฏิบัติไม่ถูกสุขลักษณะที่ดีในการจำหน่ายอาหาร ความเสี่ยงก็จะตกอยู่ที่ผู้บริโภคเพราะผู้สัมผัสอาหารอาจจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่ผู้บริโภคจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยของอาหารและการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการกระตุ้นและส่งเสริมผู้ประกอบการค้าอาหารให้พัฒนาปรับปรุงเกี่ยวกับสุขลักษณะให้ถูกหลักสุขาภิบาลทั้งในเรื่องสถานที่ อาหาร ภาชนะ สัตว์และแมลงนำโรค รวมทั้งเรื่องผู้สัมผัสอาหาร และนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาได้มีการพัฒนาหลักสูตร“การสุขาภิบาลอาหารสำหรับผู้สัมผัสอาหารตามมาตรฐานกรมอนามัย”และจัดอบรมผู้สัมผัสอาหารให้มีความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำ เพื่อนำไปปฏิบัติ พัฒนาสถานประกอบการให้มีมาตรฐานดียิ่งขึ้น ล่าสุดทั่วประเทศมีผู้สัมผัสอาหารที่ผ่านการอบรมแล้ว 219,957 คน หรือประมาณร้อยละ 66 ส่วนปี 2557 นี้ กรมอนามัยได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบจำนวน 40 แห่งทั่วประเทศและด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จัดการอบรมให้กับผู้สัมผัสอาหารในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นการเตรียมพร้อมในเรื่องของผู้ประกอบการค้าอาหารและความปลอดภัยด้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยว ตั้งเป้าปีนี้ต้องจัดอบรมผู้สัมผัสอาหารให้ได้อย่างน้อย 5,000 คน ขณะนี้มีผู้ผ่านการอบรมแล้ว 2,100 คน และได้มารับบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารในวันนี้ 300 คนโดยบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารที่ได้รับจะออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบุชื่อเจ้าของบัตรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นเครื่องหมายยืนยันถึงความเป็นมืออาชีพของผู้สัมผัสอาหาร และผู้สัมผัสอาหารจะต้องติดบัตรทุกครั้งที่ปฏิบัติงานด้านอาหารโดยบัตรจะมีอายุ 3 ปี หลังจากนั้นต้องเข้ารับการอบรมเพื่อต่ออายุ
“นอกจากการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สัมผัสอาหารแล้ว กรมอนามัยยังได้ขับเคลื่อนงานพัฒนาสถานประกอบการด้านอาหารผ่าน“โครงการอาหารสะอาดรสชาติอร่อย” (Clean Food Good Taste)” มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันมีร้านค้าและแผงลอยจำหน่ายอาหารผ่านเกณฑ์การประเมินฯมากถึงร้อยละ 86.31 และในปี 2557 จะมีการพัฒนาร้านอาหารไทยให้ได้มาตรฐานครบทุกด้าน ทั้งด้านความสะอาด ปลอดภัย ไร้สารปนเปื้อนเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้บริโภค ตามโครงการ“ร้านอาหารไทยปลอดภัย สุขภาพดี หรือ Clean Food Good Taste Plus” ซึ่งได้กำหนดให้ผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมและมีบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารโดยข้อกำหนดนี้เป็น 1 ใน 7 ข้อหลักตามเกณฑ์ของกรมอนามัย เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานธุรกิจร้านอาหารไทยให้ก้าวกระโดดครั้งใหญ่สู่ความปลอดภัยด้านอาหาร ช่วยให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการมั่นใจว่าผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟ ผู้จำหน่ายอาหารปฏิบัติตัวถูกสุขลักษณะที่ดีในการจำหน่ายอาหาร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ร้านอาหารและส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว