กทม. เปิดตัวสารวัตรยุงลาย พร้อมใช้ 3 ป.กำจัดยุงลาย

ข่าวทั่วไป Tuesday May 24, 2005 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--กทม.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 พ.ค. 48 เวลา 11.30 น.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ กรุงเทพฯ เขตปลอดยุงลาย” โดยมีนายสุกิจ ก้องธรนินทร์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายปิตินันท์ ณัฐรุจิโรจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักอนามัย และคณะครู-นักเรียน โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ( เสาชิงช้า )
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ได้กำหนดมาตรการในการกำจัดยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อเป็นการลดการระบาดของโรคไข้เลือดออกและเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักรวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในการกำจัดลูกน้ำยุงลายและสิ่งที่เป็นบ่อเกิดของโรคไข้เลือดออกอย่างถูกต้อง จึงได้จัดโครงการ "กรุงเทพฯ เขตปลอดยุงลาย “ ขึ้น โดยได้แต่งตั้งนักเรียนสังกัดโรงเรียน กทม. เป็น “สารวัตรปราบยุงลาย” เพื่อปลูกฝังเด็กๆ และเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลชุมชนของตนเองด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพียงปฏิบัติตามหลัก 3 ป. คือ หนึ่ง ป. ปิดฝาตุ่มภาชนะใส่น้ำ สอง ป. เปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะทุก 7 วันพร้อมทั้งขัดล้างภายในภาชนะ กำจัดไข่ยุงลาย และสาม ป. ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างเลี้ยงพืชน้ำ ซึ่ง กทม. ได้เปิดสายด่วน กทม. 1555 และสายด่วนสำนักอนามัย โทร. 0-2245-4964 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับแจ้งข่าวสารและข้อมูล และเตรียมพร้อมในการ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามที่ประชาชนร้องขอได้ทันที
นอกจากนี้ กทม. ยังได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมโรคไข้เลือดออกเพิ่มเติมจากเดิม 4 ศูนย์ เป็น 12 ศูนย์ เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 12 กลุ่มเขตทั่วพื้นที่ กทม. รวมทั้งมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่บริการสาธารณสุขจำนวน 18,000 คน เพื่อให้ทำงานร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และการร่วมมือกับสหกรณ์ปลาหางนกยูง เพื่อมอบพันธุ์ปลาหางนกยูงเป็นจำนวนทั้งสิ้น 10,000 ตัว ให้กับประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครได้นำไปปล่อยในอ่างเลี้ยงปลาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของลูกน้ำยุงลาย
อนึ่ง เนื่องจากโรคไข้เลือดออกยังไม่มียาเฉพาะที่สามารถต้านเชื้อไวรัสได้ การรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยอาการในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และอาจมีจุดแดงตามลำตัว เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการ ดังกล่าว ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้ หากจำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย หรือหากมีอาการอ่อนเพลียให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ และหากมีอาการแย่ลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็นพร้อมกับมีไข้ลดลง ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
กทม.จัดสัปดาห์รณรงค์ “กทม.รวมพลังต้านภัยไข้เลือดออก”
ในระหว่างวันที่ 17 — 23 พ.ค.48 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายให้สำนักต่าง ๆ ร่วมดำเนินการกำจัดยุงลายอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยสำนักอนามัย จัดทีมงานพยาบาลของศูนย์บริการสาธารณสุขออกหน่วยร่วมกับสำนักงานเขตต่าง ๆ ในการให้บริการเครื่องพ่นสารเคมี และสารเคมีกำจัดยุงลายและลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งการเผยแพร่เอกสาร สื่อสิ่งพิมพ์ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกและวิธีปฏิบัติตน เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป สำนักการแพทย์ จัดประชุมผู้บริหาร โรงพยาบาลทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในกทมทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อขอความร่วมมือในการทำแบบรายงาน 506 เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่า จะเป็นไข้เลือดออก ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อประโยชน์ในการลงพื้นที่กำจัดแหล่งที่มีพาหะของโรคได้ทันที สำนักการศึกษา ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดกทม.ทั้ง 433 แห่งได้ให้ความรู้แก่นักเรียนทุกคนได้รู้จักการป้องกันไข้เลือดออกทุกเช้าหลังเคารพธงชาติ รวมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์กำจัดแหล่งที่มีลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนทุกวันศุกร์ จัดแข่งขันประกวด “อสร.มือปราบยุงลาย”ในโรงเรียนทุกแห่ง และการประสานเครือข่ายโรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันต้านภัยไข้เลือดออก ให้ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ดำเนินการจัดทีมออกปฏิบัติงานในชุมชนทุกวัน เขตละ 5 — 10 ทีม ๆ ละ 10 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่เขต อปพร. พยาบาลจากศูนย์บริการ สาธารณสุขและอสส.เพื่อทำหน้าที่ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชนต่าง ๆ แจกสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรคไข้เลือดออกและขอความร่วมมือในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน
นอกจากนี้จะจัดหน่วยฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย อย่างน้อยเขตละ 1 — 2 ทีม ๆ ละ 2—3 คน เพื่ออกปฏิบัติงานเป็นประจำสัปดาห์ละ 3 — 4 วัน เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกชุมชน รวมทั้งการจัดเก็บขยะมูลฝอย ยางรถยนต์ใช้แล้ว ภาชนะและวัสดุที่เก็บขังน้ำ ออกจากชุมชนและหาทางระบายน้ำที่ขังตามแอ่งน้ำ คูคลอง พงหญ้า ออกให้หมด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ