กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ปัจจุบัน กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ในประเทศไทย เริ่มเป็นที่สนใจในหมู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ประกอบการทางสังคมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่า ธุรกิจ SE ส่วนใหญ่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายไม่สามารถขยายผลทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เพราะยังขาดความรู้และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจ การวางแผนด้านการเงิน และการวัดผลทางสังคม
บ้านปูฯ หนึ่งในภาคเอกชนที่สร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการทางสังคมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทพลังงานชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เป็นภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจการเพื่อสังคมมาตั้งแต่ยุคแรกที่เริ่มมี SE ในประเทศไทย โดย บริษัทฯ ได้ดำเนิน “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม" หรือ “Banpu Champions for Change” เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
โครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) จัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิด "พลังความรู้....พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา" โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบัน Change Fusion ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ดำเนินโครงการฯ BC4C เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจในการทำธุรกิจเพื่อสังคมได้นำเสนอแผนธุรกิจและลงมือดำเนินกิจการด้วยตนเอง ซึ่งกิจการที่ผ่านเข้ารอบแรก 10 โครงการจะได้รับทุนสนับสนุนจากบ้านปูฯ จำนวน 50,000 บาทต่อโครงการ เพื่อนำไปดำเนินกิจการในระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมและธุรกิจในหลากหลายสาขาจะคัดเลือกกิจการทั้ง 10 กิจการในรอบแรกให้เหลือ 4 โครงการ โดยพิจารณาจากกิจการที่มีผลการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีความเป็นไปได้ในการขยายผลไปสู่ SE ที่ยั่งยืนในอนาคต โดย 4 กิจการที่ได้รับการคัดเลือกในรอบ 2 นี้ จะได้ทุนสนับสนุนจากบ้านปูฯ อีก 200,000 บาทต่อกิจการ สำหรับพัฒนาและดำเนินกิจกรรมในระยะที่ 2 นี้ต่อไปอีก 6 เดือน
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูฯ เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการทางสังคมอย่างต่อเนื่อง อันสอดคล้องกับปณิธานในการดำเนินธุรกิจที่ว่า “อุตสาหกรรมที่ดีจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งบ้านปูฯ ยึดมั่นมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีของการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อสร้าง
”พลังร่วม” กับคนรุ่นใหม่ไฟแรงในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
“เพื่อให้โครงการ SE สามารถดำเนินได้อย่างยั่งยืน มีผลกำไรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมควบคู่กันไป นอกเหนือจากการสนับสนุนทางด้านเงินทุนแล้ว บ้านปูฯ ยังให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการ ที่ผ่านการเข้ารอบอย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการรวมทั้งภายหลังจากสิ้นสุดโครงการไปแล้วด้วย โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาอาชีพมาเป็นที่ปรึกษา (Mentor) ซึ่งก่อให้เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคมอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมอบรมและสัมมนาเชิงปฎิบัติการด้านต่างๆเช่น การบริหารจัดการ การเงิน การวัดผลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้แก่น้องๆ เยาวชนเหล่านี้อีกด้วย อันจะยังประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่กิจการของตนเองต่อไป” นางอุดมลักษณ์ อธิบาย
ร่วมสร้างธุรกิจเพื่อสังคมติดต่อกัน 4 ปีซ้อน รวมพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม
ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่บ้านปูฯ ได้ร่วมสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการทางสังคมผ่านโครงการ BC4C โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุน SE ไปแล้วจำนวน 41 กิจการ ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ไอที ท่องเที่ยว เกษตรกรรม แอนิเมชั่นเพื่อสังคม สาธารณสุข เป็นต้น และมี SE ที่สามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบันนี้ เช่น "Local Alike" กิจการด้านการท่องเที่ยวชุมชน เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สามารถพัฒนาและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน "กล่องดินสอ" กิจการพัฒนาและจำหน่ายสื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางสายตา "Go Went Gone" กิจการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านด้วยการพัฒนางานฝีมือท้องถิ่นและหาช่องทางการจำหน่ายให้ เป็นต้น
ปี 2557 "ดิจิตอลเทรนด์” มาแรง
ในปีนี้โครงการ BC4C ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก โดยโครงการ SE ที่ผ่านการเข้ารอบมีทั้งกิจการเพื่อสุขภาพ เพื่อผู้ป่วย เพื่อการศึกษา เพื่อพัฒนาชุมชน และเพื่อเยาวชนด้อยโอกาส อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในปีนี้กิจการส่วนใหญ่ดำเนินการผ่านระบบดิจิตอล เช่น เว็บไซต์สอนหนังสือในรูปแบบของเกมส์ เว็บไซต์ระดมทุนเพื่อพิมพ์หนังสือ ดิจิตอลเอเจนซี่เพื่อช่วยหางานให้แก่ผู้ด้อยโอกาส แอพพลิเคชั่นมือถือเพื่อส่งเสริมสุขภาพคนไทย ส่วนบางกิจการที่แม้จะไม่ได้ดำเนินงานผ่านดิจิตอลโดยตรง แต่ก็มีการใช้ดิจิตอลเป็นช่องทางการขาย หรือประชาสัมพันธ์โครงการ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต
Banpu Champions for Change พลังคนรุ่นใหม่ พลังเปลี่ยนแปลงสังคม
เป็นที่น่ายินดีว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวเองมากขึ้นและคำนึงถึงตัวเองเป็นหลัก แต่ยังมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่งที่มีความตั้งใจดีและต้องการทำประโยชน์แก่สังคม โดยคนกลุ่มนี้มีการเข้าถึงเทคโนโลยี สามารถเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมุมมองใหม่ๆ ซึ่งหากเยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำที่ดีจะเป็นพลังเปลี่ยนแปลงสังคมอันยิ่งใหญ่ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม เพราะไม่เพียงแต่กิจการของพวกเขาจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติแล้ว แต่เขาเหล่านี้จะเป็นต้นแบบในการเป็นคนเก่งและดี อันจะนำไปสู่การพัฒนาคน และสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต