กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--JCPR
ด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นนิติบุคคลในกำกับดูแลของกระทรวงการคลังซึ่งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาดำเนินการให้กู้ยืมตั้งแต่ปีการศึกษา 2539 โดยให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) จนถึงระดับปริญญาตรี กองทุนนับเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนการขยายโอกาส และพัฒนาการศึกษาของประเทศเพื่อให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมีความประสงค์ให้ ปณท เป็นช่องทางหนึ่งในการรับชำระเงินคืนจากผู้กู้ของ กยศ. ผ่านบริการรับชำระเงิน (Pay at Post) ซึ่งตามปกติผู้กู้ของ กยศ. จะสามารถชำระเงินคืนได้เพียง 2 ช่องทางคือชำระผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้กู้ยืมที่ต้องชำระเงินคืน กยศ. ทั่วประเทศจำนวนกว่า 2.6 ล้านราย
รายละเอียดของการให้บริการ
1. ผู้กู้ยืมของ กยศ. จะได้รับใบแจ้งการชำระเงินจาก กยศ. จัดส่งให้ถึงบ้าน ผู้กู้สามารถนำใบแจ้งการชำระเงินที่ได้รับไปชำระเงินผ่านไปรษณีย์ไทยทุกสาขาทั่วประเทศ ผ่านบริการรับชำระเงิน (Pay at Post)
2. เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทยที่ให้บริการ ณ สาขาทั่วประเทศจะทำการบันทึกข้อมูลด้วยการอ่านรหัสบาร์โค้ดที่ระบุอยู่ในใบแจ้งการชำระเงิน โดยข้อมูลการรับชำระเงินจากไปรษณีย์ไทยทุกสาขาทั่วประเทศจะถูกจัดส่งให้แก่ กยศ. ในวันทำการถัดไปพร้อมกับการโอนเงินที่รับชำระจากผู้กู้ ทั้งนี้ กยศ. จะถือว่าวันที่ผู้กู้ กยศ. ได้ชำระเงินผ่านไปรษณีย์ไทยเป็นวันที่ผู้กู้ได้ชำระเงินให้ กยศ. แล้วถึงแม้จะได้รับข้อมูลการรับชำระเงินในวันทำการถัดไปก็ตาม
ประโยชน์ที่คาดว่า ปณท จะได้รับจากการเปิดให้บริการ
1. เป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์บริการทางการเงินของ ปณท ให้เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นด้วยจำนวนผู้กู้ยืมทั่วประเทศกว่า 2.6 ล้านราย
2. อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้กู้ยืมในการชำระเงินเนื่องจากการชำระเงินผ่านธนาคารในช่องทางปกตินั้นสาขาของธนาคารยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งสาขาของไปรษณีย์ไทยจะมีเครือข่ายที่ครอบคลุมมากกว่า และจะได้รับความไว้วางใจจากผู้กู้ยืมในระดับหนึ่ง ด้วย ปณท เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีความน่าเชื่อถือ
3. ผู้กู้จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร จำนวนเงินที่ต้องชำระอย่างชัดเจนจากเอกสารใบแจ้ง
การชำระเงินที่ กยศ. จัดส่งให้แก่ผู้กู้ซึ่งจะสามารถชำระเงินผ่านช่องทางไปรษณีย์ทั่วประเทศเท่านั้น จากปกติธนาคารจะจัดส่งรายละเอียดของการชำระเงินคืนให้แก่ผู้กู้เพียงครั้งเดียว และผู้กู้จะต้องติดต่อสอบถามรายละเอียดจากธนาคารเองซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้กู้ไม่ชำระคืนเงินกู้ยืมคืนเพื่อใช้หมุนเวียนให้แก่ผู้กู้ในรุ่นต่อๆ ไป