กรุงเทพ--26 มิ.ย.--สปส.
ประกันสังคมชี้ผู้ประกันตนประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้ โดยสำรองจ่ายไปก่อน และต้องรีบแจ้ง รพ.ตามบัตรรับรองสิทธิฯ ให้รับตัวไปรักษา
นายจำลอง ศรีประสาธน์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการ สังคม เปิดเผยว่า ถึงแม้สำนักงานประกันสังคมจะกำหนดให้ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรรับรองสิทธิฯ แต่หากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ โดยให้สำรองจ่ายไปก่อน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบตามอัตราที่กำหนดไว้ ดังนี้
กรณีฉุกเฉิน เบิกได้ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง
1. ผู้ป่วยนอก
- ค่ารักษาพยาบาล 200 บาท
- ค่าตรวจวิเคราะห์ 150 บาท
- ค่าหัตถการทางการแพทย์ เช่นเย็บแผล 150 บาท
2. ผู้ป่วยใน
- ค่ารักษาพยาบาลวันละ 1,200 บาท
- ค่าห้อง ค่าอาหารวันละ 700 บาท
- ค่ารักษาพยาบาลในห้อง ICU วันละ 2,000 บาท
- ค่าผ่าตัดใหญ่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง 6,000 บาท เกิน 2 ชั่วโมง 10,000 บาท
- CT SCAN หรือ MRI 4,000 บาท ตามหลักเกณฑ์
กรณีอุบัติเหตุ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- รพ.รัฐเบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
- รพ.เอกชน เบิกได้ตามหลักการณ์กรณีฉุกเฉิน และหม่กำหนดจำนวนครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วให้รีบแจ้งโรพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ทันที เพื่อโรงพยาบาลตามบัตรฯ จะได้รับไปรักษาต่อ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลตามบัตรฯ ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายแต่ประการใด เพราะสำนักงานฯ ได้จ่ายในลักษณะเหมาจ่ายแล้ว
เลขาธิการฯ กล่าวย้ำว่า เมื่อผู้ประกันตนเข้ารับการรักษากรณีฉุกเฉินและอุบัติเหตุในโรงพยาบาลที่มิได้ระบุในบัตรฯ ควรรีบแจ้งโรงพยาบาลตามบัตรฯ เพื่อรับไปรักษาตัวต่อทันที สิ่งสำคัญคือผู้ประกันตนควรพกพาบัตรรับรองสิทธิฯ ติดตัวไว้ หากประสบอุบัติเหตุจะได้ทีหลักฐานแสดงความเป็นผู้ประกันตน--จบ--