กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 25 – 30 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้จัดประชุม 82nd General Session of the World Assembly of OIE Delegates ขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และที่ประชุมได้มีการประกาศรับรองให้ประเทศไทยได้รับสถานะปลอดโรค African Horse Sickness (AHS) ในสัตว์จำพวกม้า และโรค Peste de Petits Ruminants (PPR) ในสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กโดยเฉพาะ แพะ-แกะตามข้อกำหนดของ OIE Terrestrial Animal Health Code ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ถึงแม้ทั้งสองโรคนี้ไม่จัดว่าเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็เป็นโรคที่ไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะ สัตว์ที่เป็นโรคนี้มักจะถูกทำลาย และจากการที่ประเทศไทยได้รับการรับรองจาก OIE ในครั้งนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์และการส่งออกปศุสัตว์ไปต่างประเทศการสร้างมูลค่าเพิ่มของปศุสัตว์รวมถึงกีฬาการ แข่งม้าในประเทศไทยต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่าโรค African Horse Sickness หรือโรค AHS เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบในสัตว์จำพวก ม้า ลา ล่อ พบมากในทวีปแอฟริกาเรื่อยมาจนถึงเอเชียใต้ โดยมีพาหะที่สำคัญ คือ ยุงหรือแมลงดูดเลือด ซึ่งสัตว์ที่ป่วยจะแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ มีการบวมที่ใบหน้าและส่วนล่างของลำตัว และจะตายในที่สุด ส่วนโรค Peste des Petits Ruminants หรือโรค PPR พบในสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กโดยเฉพาะ แพะ – แกะ มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรครินเดอร์เปสต์ สัตว์จะแสดงอาการในระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร มีคราบเหลืองที่ตา จมูก ปาก หายใจลำบากหรือท้องเสียรุนแรง สัตว์จะติดโรคนี้ จากการสัมผัสโดยตรง เช่น น้ำมูก น้ำลายตัวป่วย แต่ด้วยทั้ง 2 โรคนี้เป็นโรคสัตว์แปลกถิ่นสำหรับประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีรายงาน การพบโรคนี้มาก่อน กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังทางอาการร่วมกับการสุ่มตัวอย่างตามหลักการทางระบาดวิทยาเพื่อค้นหาโรค โดยโรค AHS นั้น กรมปศุสัตว์ได้เก็บตัวอย่างเมื่อปี 2540 ปี 2554 และ ปี 2555 จำนวนกว่า 1,000 ตัวอย่าง ซึ่งผลการตรวจไม่พบตัวอย่างที่ให้ผลบวกของโรคนี้ ส่วนโรค PPR กรมปศุสัตว์ก็ได้ดำเนินการเฝ้าระวังทางอาการร่วมกับการสุ่มเก็บตัวอย่างตามหลักการทางระบาดวิทยาเพื่อตรวจหาโรค ซึ่งผลการตรวจไม่พบตัวอย่างที่ให้ผลบวกของโรคนี้เช่นกัน
ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้ดำเนินการยื่นขอรับรองการปลอดโรคต่อ OIE ทั้ง 2 โรคเมื่อปี 2556 และได้รับการประกาศ อย่างเป็นทางการในที่ประชุมของ OIE เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 นับเป็นโรคที่ 2 และ 3 ที่ได้รับการรับรองหลังจากประเทศไทยได้รับการรับรองปลอดโรครินเดอร์เปสต์จาก OIE มาแล้ว เมื่อปี 2547
ท้ายที่สุดนี้กรมปศุสัตว์ขอให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า กรมปศุสัตว์มีนโยบายที่จะให้ประเทศไทยได้รับรองการ ปลอดโรคอื่นๆในสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลดการสูญเสียจากการเกิดโรคระบาด สามารถจำหน่ายสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้ในราคาที่สูงขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสินค้าด้านปศุสัตว์ หากประชาชนผู้สนใจต้องการข้อมูลเรื่องโรคสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ